ความหมายลักษณะและประเภทของรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญที่ใช้ในการปกครองประเทศตามสภาพความเป็นจริงในโลกปัจจุบัน นั้นมีปกครองในระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ส่วนหนึ่ง ระบอบเผด็จการ (Dictatorship) ส่วนหนึ่ง และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute monarchy) ส่วนหนึ่ง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วประเทศต่างๆในโลกนี้จะใช้หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ถือว่าเป็นระบอบการปกครองที่คุ้มครองสิทธเสรีภาพของประชาชนมากที่สุดและเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดและมีการยอมรับกันในทางวิชาการ อนึ่งควรสังเกต ชื่อวิชาที่ใช้เรียนและเรียกกันอยู่ทั่วไป คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ใช่รัฐธรรมนูญ ถ้าเรียนรัฐธรรมนูญแล้ว หากมีการปฏิวัติ (Revolution) หรือรัฐประหาร (Coup d’ Etate) ล้มเลิกรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่มีอะไรให้ศึกษากัน แต่ถ้าเรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้วแม้จะยกเลิกรัฐธรรมนูญเสียก็มีกฎหมายอื่นว่าด้วยสถาบันการเมืองที่เหลืออยู่ให้ศึกษากัน
1. รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐธรรมนูญ
ในส่วนนี้ผู้เขียนมุ่งที่สนใจและให้ความสำคัญในการศึกษา คือ รัฐธรรมนูญที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เป็นระบอบการปกครองที่ประเทศทั่วโลกใช้ในการปกครองประเทศเป็นส่วนใหญ่และถือว่าเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากที่สุด ดังนี้
1.1 ความหมายของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย
พจนานุกรมกฎหมายอเมริกัน ได้ให้ความหมาย คำว่า “รัฐธรรมนูญ” (Constitution) ว่าหมายถึง กฎหมายที่กำหนดกฎเกณฑ์และเป็นพื้นฐานของรัฐ ซึ่งอาจเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ โดยกำหนดลักษณะและแนวทางเกี่ยวกับรัฐบาล วางหลักการพื้นฐานสำหรับให้รัฐบาลดำเนินการ จัดรูปแบบของรัฐบาลและกำหนดกฎเกณฑ์กระจายและจำกัดบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานและวางหลักในการใช้อำนาจอธิปไตยว่ามีขอบเขตมากน้อยแค่ไหนเพียงไร
สำหรับในประเทศไทยมีนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงได้อธิบายความหมายของรัฐธรรมนูญไว้ เช่น
1.หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) อธิบายว่า “กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดในแผ่นดินทั้งหลาย และวิธีการดำเนินการทั่วไปแห่งอำนาจเหล่านี้หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่ากฎหมายธรรมนูญการปกครองวางหลักทั่วไปแห่งอำนาจสูงสุดในประเทศ"
2. ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า รัฐธรรมนูญ “หมายถึงกฎหมายที่กำหนดระเบียบแห่งการใช้อำนาจสูงสุดในรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจเหล่านี้ต่อกันและกัน”
3.ศาสตราจารย์ ดร.สมภพ โหตระกิตย์ อธิบายว่า “ในปัจจุบันคำว่า “Constitution” หรือ “รัฐธรรมนูญ” มีความหมายสองนัย คือ ความหมายอย่างกว้างและอย่างแคบ
ตามความหมายอย่างกว้าง รัฐธรรมนูญได้แก่ ระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Customs) และธรรมเนียมปฏิบัติ (Conventions) ซึ่งกล่าวถึง
1) บรรดาองคาพยพ (Organ) หรือสถาบันการเมืองของรัฐ...ฯลฯ...
2) หน้าที่ขององคาพยพ หรือสถาบันการเมืองของรัฐ...ฯลฯ...
3) ความสัมพันธ์ระหว่างองคาพยพหรือสถาบันทางการเมืองของเอกชน...ฯลฯ...
ความหมายอย่างกว้างนี้ใช้ อยู่ในประเทศอังกฤษและหมายถึงรัฐธรรมนูญของประเทศอังกฤษ”
“ส่วนความหมายอย่างแคบ หมายถึง กฎหมายฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับ ซึ่งรวบรวมกฎเกณฑ์การปกครองประเทศขึ้นไว้ เช่น การดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ การทำหน้าที่นิติบัญญัติ หน้าที่บริหาร หน้าที่ตุลาการ ฯลฯ และกฎหมายนี้ได้จัดทำตามวิธีการที่กำหนดเป็นพิเศษ แตกต่างจากกฎหมายธรรมดาและได้รับการยกย่องให้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ความหมายนี้ได้แก่รัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประะเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมนี ประเทศญี่ปุ่น ประเทศไทย ฯลฯ”
4. ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้อธิบายความหมายของรัฐธรรมนูญ หมายถึง เอกสารเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง อันมีลักษณะเป็นสัญญาประชาคม คือ เป็นกฎหมายสูงสุดผูกมัดให้ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองใช้อำนาจภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น
จากความหมายเหล่านี้เราอาจสรุปได้ว่า “รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย” (Constitutional democracy) หมายถึง กฎหมายสูงสุดที่ใช้เป็นแนวทางในการปกครองประเทศ วางระเบียบหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับรัฐ กล่าวคือ ว่าด้วยดินแดน ประชากร อำนาจอธิปไตยและรัฐบาล ตลอดจนความสัมพันธ์ขององค์กรต่างๆ ที่กำหนดเพื่อทำหน้าที่แตกต่างกันออกไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers)
1.2 ความหมายของกฎหมายที่มีความสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญ
ความหมายของกฎหมายที่มีความสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญในทางวิชาการ ได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายละเอียดของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1.2.1 ความหมายของกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ในทางวิชาการมีคำอีกคำหนึ่งซึ่งมักใช้สับสนกับคำว่า “รัฐธรรมนูญ” เสมอ คือ คำว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” (Constitution Law หรือ the Law of the Constitution) ซึ่งหมายถึง กฎหมายที่วางระเบียบเกี่ยวกับสถาบันทางการเมืองต่างๆ ในรัฐ ซึ่งรวมทั้งรัฐธรรมนูญ กฎมณเฑียรบาล จารีตประเพณีทางการเมืองและกฎหมายอื่นๆด้วย ด้วยเหตุนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญอาจไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษ หรือแม้แต่จารีตประเพณีทางการเมืองของไทย เป็นต้น โดยนัยแห่งความหมายนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญจึงเป็นคำที่กว้างกว่ารัฐธรรมนูญ เพราะคลุมถึงรัฐธรรมนูญด้วย คลุมถึงหลักเกณฑ์การปกครองประเทศทีไม่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย คลุมถึงกฎหมายทั้งหลายที่วางระเบียบเกี่ยวกับสถาบันการเมืองใดสถาบันการเมืองหนึ่งด้วย คลุมถึงกฎหมายที่ขยายเนื้อหารายละเอียดที่รัฐธรรมนูญได้วางหลักการไว้นั่นก็ คือ "กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ" (Organic Law)
1.2.2 ความหมายของกฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายละเอียดของรัฐธรรมนูญ
กฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายละเอียดของรัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (Organic Law) เป็นกฎหมายที่ผูกอิงอยู่กับรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นแตกต่างจากกฎหมายชนิดอื่นๆ เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น เป็นกฎหมายที่สำคัญรองจากรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกฎหมายที่มีความสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิดกับรัฐธรรมนูญ โดยทั่วไปรัฐธรรมนูญจะกล่าวถึงเฉพาะหลักการสำคัญ ส่วนรายละเอียดก็ให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อขยายเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” (Organic Act) มีอยู่ 9 ฉบับด้วยกัน ดังนี้
(1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
(3) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งวุฒิสภา
(4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน
(5) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
(6) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
(7) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(8) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(9) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
1.2.3 ความหมายของกฎหมายที่ออกตามเนื้อความของรัฐธรรมนูญ
กฎหมายที่ออกตามเนื้อความของรัฐธรรมนูญ หมายถึง พระราชบัญญัติธรรมดาหรือกฎหมายที่มีค่าบังคับเท่าพระราชบัญญัติที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญหรือรับรองโดยรัฐธรรมนูญซึ่งมีมากมายหลายฉบับด้วยกัน เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขความสมบูรณ์ของกฎหมายที่จะตราขึ้นใช้บังคับ ซึ่งกฎหมายนั้นย่อมเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ในตัวมันเองมิได้ผูกอิงความสมบูรณ์ของมันอยู่กับรัฐธรรมนูญ
1.3 ความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐธรรมนูญ
เมื่อได้ทราบถึงความหมายของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องศึกษาเปรียบเทียบใน 2 ประเด็น คือ ความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ กับความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างกฎหมายที่มาขยายเนื้อหาตามรัฐธรรมนูญกับกฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1.3.1 ความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญกับกฎหมายรัฐธรรมนูญจะมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากจนมีคนกล่าวถึงว่าเป็นกฎหมายเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามในทางวิชาการจะมีความแตกต่างกัน ดังนี้
1.3.1.1 ความคล้ายคลึงระหว่างรัฐธรรมนูญกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ความคล้ายคลึงระหว่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งเป็นชื่อเฉพาะของกฎหมาย) กับกฎหมายรัฐธรรมนูญ (ซึ่งเป็นชื่อรวมใช้เรียกกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันการเมือง) อยู่ที่ว่ากฎหมายทั้งสองประเภทเป็นกฎหมายมหาชนและวางระเบียบเกี่ยวกับการเมืองการปกครองคล้ายกันเพียงแต่รัฐธรรมนูญจะกำหนดรายละเอียดมากกว่า
1.3.1.2 ความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1.รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่กำหนดความสูงสุดของกฎหมายไว้ คือเป็นกฎหมายที่มีฐานะสูงสุด กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่รวมกฎหมายหลายๆเรื่องหลายๆกฎหมายจึงไม่มีสถานะทางกฎหมาย
2.รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่เป็นเอกสารฉบับเดียว แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นการรวมกฎหมายต่างๆที่เป็นลายลักษณ์อักษร (รวมไปถึงรัฐธรรมนูญ) และไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
3.รัฐธรรมนูญเป็นชื่อเฉพาะ แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นชื่อใช้ชื่อเรียกรวมกฎหมายต่างๆเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของรัฐ
โดยสรุป เราอาจกล่าวได้ว่าประเทศใดมีรัฐธรรมนูญ ประเทศนั้นย่อมมีกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในกฎหมายหลายประการของกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ประเทศใดมีกฎหมายรัฐธรรมนูญประเทศนั้นอาจไม่มีรัฐธรรมนูญ เช่น ประเทศอังกฤษมีกฎเกณฑ์การปกครองประเทศในรูปแบบต่างๆกัน แต่ไม่มีตัวบทกฎหมายที่เป็นรัฐธรรมนูญเหมือนกับรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น
ตารางเปรียบเทียบระหว่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ประเด็นเปรียบเทียบ
รัฐธรรมนูญ
กฎหมายรัฐธรรมนูญ
1.ความหมาย
เป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้เป็นแนวทางในการปกครองประเทศ วางระเบียบหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับรัฐ กล่าวคือ ว่าด้วยดินแดน ประชากร อำนาจอธิปไตยและรัฐบาล ตลอดจนความสัมพันธ์ขององค์กรต่างๆ ที่กำหนดเพื่อทำหน้าที่แตกต่างกันออกไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers)
เป็นกฎหมายที่วางระเบียบเกี่ยวกับสถาบันทางการเมืองต่างๆ ในรัฐ ซึ่งรวมทั้งรัฐธรรมนูญ กฎมณเฑียรบาล จารีตประเพณีทางการเมืองและกฎหมายอื่นๆด้วย ด้วยเหตุนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญอาจไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้
2.ความคล้ายคลึง
เป็นกฎหมายมหาชนและวางระเบียบเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของรัฐ
เป็นกฎหมายมหาชนและวางระเบียบเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของรัฐ
3.ความแตกต่าง
1.เป็นกฎหมายที่กำหนดความสูงสุดของกฎหมายไว้ คือเป็นกฎหมายที่มีฐานะสูงสุด กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้
2.เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่เป็นเอกสารฉบับเดียว
3. เป็นชื่อเรียกกฎหมายเฉพาะ
1.เป็นกฎหมายที่รวมกฎหมายหลายๆเรื่องหลายๆกฎหมายจึงไม่มีสถานะทางกฎหมาย
2.เป็นการรวมกฎหมายต่างๆที่เป็นลายลักษณ์อักษร (รวมไปถึงรัฐธรรมนูญ) และไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
3.เป็นชื่อใช้ชื่อเรียกรวมกฎหมายต่างๆเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของรัฐ
1.3.2 ความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างกฎหมายที่มาขยายเนื้อหาตามรัฐธรรมนูญกับกฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญ
ความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างกฎหมายที่มาขยายเนื้อหาตามรัฐธรรมนูญกับกฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญ สามารถแยกอธิบายสรุป ดังนี้
1.3.2.1 ความคล้ายคลึงระหว่างกฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายละเอียดของรัฐธรรมนูญกับกฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญ
กฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกับกฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญ คือ พระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับเท่าพระราชบัญญัติ มีความคล้ายคลึง ดังนี้
1.กฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญกับกฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญ ต่างก็เป็นกฎหมายในระดับกฎหมายบัญญัติ
2.กฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญกับกฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญด้วยกัน
1.3.2.2 ความแตกต่างระหว่างกฎหมายที่มาขยายเนื้อหาตามรัฐธรรมนูญกับกฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญ
กฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกับกฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญ คือ พระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับเท่าพระราชบัญญัติ มีความแตกต่างกัน ดังนี้
1.กฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญนั้นจะมีความสำคัญกว่ากฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญเพราะมีความใกล้ชิดผูกอิงอยู่กับรัฐธรรมนูญและมีความจำเป็นต้องตราใช้บังคับตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
2.กฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญนั้นได้กำหนดไว้เฉพาะเรื่องไว้ในรัฐธรรมนูญว่าเรื่องใดบ้างจำนวนกี่เรื่องที่ต้องตรา แต่กฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้จำกัดว่าจำนวนกี่เรื่องแล้วสถานการณ์ของบ้านเมือง
3.การตรากฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญนั้นมีขั้นตอนกระบวนการตรากฎหมายพิเศษกว่ากฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญ เช่น จำนวนผู้เสนอร่างกฎหมาย เป็นต้น
4.การสิ้นผลของรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญก็จะสิ้นผลตามไปด้วยเพราะมีความใกล้ชิดผูกอิงกับรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญเมื่อรัฐธรรมนูญสิ้นผลไปแล้วกฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญก็ยังคงอยู่จนกว่าจะมีการตรากฎหมายมายกเลิก
ตารางการเปรียบเทียบระหว่างกฎหมายที่มาขยายเนื้อหาตามรัฐธรรมนูญ
กับกฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญ
ประเด็นเปรียบเทียบ
กฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ
กฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญ
ความหมาย
กฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายละเอียดของรัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (Organic Law) เป็นกฎหมายที่ผูกอิงอยู่กับรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นแตกต่างจากกฎหมายชนิดอื่นๆ เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น เป็นกฎหมายที่มีความสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิดกับรัฐธรรมนูญ
กฎหมายที่ออกตามเนื้อความของรัฐธรรมนูญ หมายถึง พระราชบัญญัติธรรมดาหรือกฎหมายที่มีค่าบังคับเท่าพระราชบัญญัติที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญหรือรับรองโดยรัฐธรรมนูญซึ่งมีมากมายหลายฉบับด้วยกัน
ความคล้ายคลึง
1.ระดับชั้นของกฎหมาย
2. อาศัยอำนาจในการตรากฎหมาย
-กฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติ
-กฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญออกโดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญ
-กฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายระดับกฎหมายบัญญัติ
-กฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญออกโดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญ
ความแตกต่าง
1.ความจำเป็นที่ตราเป็นกฎหมาย
2.จำนวนเรื่องที่ตราเป็นกฎหมาย
3.กระบวนการตรา (การเสนอร่างกฎหมาย)
4.สิ้นผลของรัฐธรรมนูญ
-กฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องตราใช้บังคับตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
-กฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญนั้นได้กำหนดไว้เฉพาะเรื่องไว้ในรัฐธรรมนูญว่าเรื่องใดบ้างจำนวนกี่เรื่องที่ต้องตรา
-ผู้เสนอร่างกฎหมาย
(1)คณะรัฐมนตรี
(2) ส.ส. 1ใน 10 หรือ ส.ส.กับ ส.ว. 1ใน 10
(3)ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
-เมื่อรัฐสภาพิจารณาลงมติเสร็จก่อนทูลเกล้าฯ ต้องส่งร่างร่างกฎหมายนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
-รัฐธรรมนูญสิ้นผล กฎหมายที่ออกมาขยายเนื้อหารายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญก็สิ้นผลไปกับรัฐธรรมนูญ
-กฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญ นั้นรัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับ
-กฎหมายที่ออกตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้จะกัดว่าจำนวนกี่เรื่องแล้วสถานการณ์ของบ้านเมือง
-ผู้เสนอร่างกฎหมาย
(1)คณะรัฐมนตรี
(2) ส.ส.ไม่น้อยกว่า 20 คน
(3)ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรม
(4) ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,000 คนขึ้นไป
-เมื่อรัฐสภาพิจารณาลงมติเสร็จก่อนทูลเกล้าฯ ต้องมีผู้ยื่นคำร้องว่าร่างกฎหมายนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
- รัฐธรรมนูญสิ้นผลกฎหมายที่ออกตามเนื้อความรัฐธรรมนูญไม่สิ้นผลไปกับรัฐธรรมนูญ
2.ลักษณะของรัฐธรรมนูญ
เมื่อทราบถึงความหมายของ คำว่า “รัฐธรรมนูญ” “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” ทราบถึงกฎหมายที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่ขยายเนื้อหารายละเอียดของรัฐธรรมนูญ (กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ) กฎหมายที่ออกมาตามเนื้อความตามรัฐธรรมนูญ (พระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับเท่าพระราชบัญญัติ) ในหัวข้อนี้จะกล่าวถึงเฉพาะลักษณะของรัฐธรรมนูญเท่านั้น ดังนี้
2.1 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ รัฐธรรมนูญจึงมีในฐานะเป็นที่มาสูงสุดของความชอบด้วยกฎหมาย คือ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ องค์กรของรัฐทุกองค์กรในรัฐต้องเคารพรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งหลักการนี้ได้รับรองอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หลายมาตรา เช่น ในมาตรา 3 มาตรา 6 และ มาตรา 27 เป็นต้น ดังนั้น รูปแบบการตรากฎหมายและเนื้อหาของกฎหมายต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คือ ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
2.2 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร
รัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรมีชื่อหรือศัพท์ใช้เรียกเฉพาะเพื่อชี้ให้เห็นว่าพิเศษและต่างจากกฎหมายอื่นๆ ดังนี้
2.2.1 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่เกิดใหม่มีพลวัตร
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่เกิดใหม่มีพลวัตร มีการเคลื่อนไหวพัฒนาอยู่ตลอดเวลา คำวินิจฉัยของศาลหรือการตีความของศาลจึงมีความสำคัญมาก เพราะจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า "กฎเกณฑ์ใหม่ทำให้รัฐธรรมนูญมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ” ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องให้ความสนใจกับคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามนอกจากคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลแล้ว ยังมีธรรมเนียมปฏิบัติหรือจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญขององค์กรทั้งหลายตามรัฐธรรมนูญที่ปฏิบัติเชื่อกันว่าต้องทำตามก็ทำให้เกิดบรรทัดฐานหรือกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นได้เช่นกัน
2.2.2 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีความสัมพันธ์ทางการเมือง
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีความสัมพันธ์ทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง การใช้อำนาจทางการเมือง รวมไปถึงการกระจายอำนาจการปครอง ดังนี้
2.2.2.1 รัฐธรรมนูญมีความสัมพันธ์ทางด้านอุดมการณ์
รัฐธรรมนูญมีความสัมพันธ์ทางด้านอุดมการณ์ ซึ่งรัฐธรรมนูญจะประกาศอุดมการณ์ว่าสังคมนั้นๆ เลือกที่จะเป็นสังคมแบบใด เช่น ประเทศไทยเป็นสังคมที่ประกาศอุดมการณ์ในการปกครองแบบรัฐเดี่ยว มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นต้น มีการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ประกาศอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกทางตลาด และให้รัฐมีอำนาจเข้าแทรกแซงได้เพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นต้น
2.2.2.2 รัฐธรรมนูญมีความสัมพันธ์กับองค์กรในการใช้อำนาจทางการเมือง
การกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรหรือสถาบันต่างๆที่จัดตั้งขึ้น ว่ามีความสัมพันธ์ในลักษณะใด เช่น การกำหนดว่ารัฐสภากับคณะรัฐมนตรีมีความสัมพันธ์ในลักษณะของการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ทั้งนี้โดยให้สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งรัฐสภามีสิทธิเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ ซึ่งการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลก็ดีหรือทั้งคณะก็ดี ในทางกฎหมายก็คือการให้ถอดถอนรัฐมนตรีคนนั้นหรือทั้งคณะออกจากตำแหน่ง และในด้านกลับกันก็ให้นายกรัฐมนตรีมีสิทธิถวายคำแนะนำและยินยอมให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขของรัฐยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งการยุบสภาผู้แทนราษฎร ก็คือการถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนออกจากตำแหน่งครบวาระนั่นเอง เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภากับฝ่ายบริหาร หรือคณะรัฐมนตรีจึงมีความสัมพันธ์ที่ถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันหรือคานอำนาจกัน (Check and Balance) ในแง่ที่ว่าต่างฝ่ายต่างก็มีอำนาจถอดถอนอีกฝ่ายหนึ่งออกจากตำแหน่งได้ รัฐสภาถอดถอนฝ่ายบริหารออกจากตำแหน่งได้ ฝ่ายบริหารก็ถอดถอนรัฐสภาออกจากตำแหน่งได้ เป็นลักษณะของความสัมพันธ์อันหนึ่งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติก็อาจจะกำหนดให้ศาลมีอิสระในการทำหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญมอบหมายให้แก่ตนอย่างเป็นอิสระไม่ต้องฟังคำสั่ง หรือคำบังคับบัญชาของรัฐสภาและทั้งคณะรัฐมนตรี ศาลมีหน้าที่ผูกพันแต่เฉพาะกฎหมายเท่านั้นต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่ต้องเคารพและผูกพันปฏิบัติตามคำสั่งคำบังคับบัญชาของรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรี และที่สำคัญมีการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรให้มีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร ตรวจสอบการใช้อำนาจของสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น
ข้อสังเกต ความเป็นอิสระของศาลไม่ผูกพันกับองค์กรใดและไม่ต้องรับผิดชอบกับองค์กรใด แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น ทุกระบบไม่ว่าจะเป็นระบบประธานาธิบดี ระบบรัฐสภาและระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา ก็จะมีลักษณะเหมือนกันกับความเป็นอิสระของศาลในการพิพากษาอรรถคดี
2.2.2.3 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่กระจายอำนาจ
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่กระจายอำนาจ การใช้และการตีความรัฐธรรมนูญเป็นการใช้และการตีความที่มีการกระจายอำนาจสูง ไม่มีองค์กรใดในรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดสามารถตีความรัฐธรรมนูญได้ทุกเรื่องแต่เพียงผู้เดียว ขึ้นอยู่ตามความสำคัญแต่ละเรื่องไป ซึ่งบางเรื่องก็ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติใช้และตีความรัฐธรรมนูญในส่วนกระบวนการตรากฎหมาย บางเรื่องก็ให้อำนาจฝ่ายบริหารใช้และตีความตามรัฐธรรมนูญในการบริหารราชการแผ่นดิน บางเรื่องก็ให้อำนาจฝ่ายตุลาการใช้และตีความรัฐธรรมนูญในส่วนการตัดสินคดีตามกฎหมาย เป็นต้น
2.3 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ
กฎหมายที่มีแนวคิดพื้นฐานเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐ ย่อมส่งผลให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ควบคุมการใช้อำนาจของรัฐไม่ให้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่รับรองไว้โดยกฎหมายกฎหมายสูงสุด คือ รัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญก็จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้โดยกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามหลักการปกครองแบบนิติรัฐ (Legal State) ที่ยึดหลักนิติธรรม (The Rule of Law) คือ เป็นการใช้หลักการปกครองที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐจะกระทำการใดได้ต้องมีกฎหมายให้อำนาจและต้องกระทำภายในขอบเขตของกฎหมาย (หลักนิติรัฐ) โดยบังคับใช้กฎหมายเสมอภาคเท่าเทียมกัน (หลักนิติธรรม)
3. ประเภทของรัฐธรรมนูญ
ประเภทของรัฐธรรมนูญนี้จะกล่าวถึงหลักการแบ่งประเภทของรัฐธรรมนูญที่สำคัญว่ามีกี่รูปแบบและการแบ่งประเภทของรัฐธรรมนูญรูปแบบใดที่มีความสำคัญทางวิชาการ
3.1 หลักการแบ่งประเภทของรัฐธรรมนูญ
ในทางวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ เราอาจแยกประเภท หรือ ชนิดของรัฐธรรมนูญออกได้หลายรูปแบบหรือหลายวิธีด้วยกัน ดังนี้
3.1.1 การแบ่งแยกตามรูปแบบของรัฐ
การแบ่งแยกตามรูปแบบของรัฐตามหลักเกณฑ์นี้รัฐธรรมนูญจะแบ่งออกเป็น 2
ประเภท คือ รัฐธรรมนูญของรัฐเดี่ยวกับรัฐธรรมนูญของรัฐรวม ดังนี้
3.1.1.1 รัฐธรรมนูญของรัฐเดี่ยว
รัฐธรรมนูญของรัฐเดี่ยว คือ เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นเอกสารฉบับเดียวหรือหลายฉบับใช้บังคับทั่วอาณาจักร โดยรวมฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการอยู่ศูนย์กลางเพียงองค์กรเดียวเรียกว่า “รัฐ” รัฐธรรมนูญของรัฐเดี่ยวเช่น ประเทศไทย ประเทศฝรั่งเศส นอร์เว ประเทศสวีเดน ประเทศอียิปต์ ประเทศเวียดนาม ประเทศสิงคโปร์ ประเทศกัมพูชา ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
3.1.1.2 รัฐธรรมนูญของรัฐรวม
รัฐธรรมนูญของรัฐรวมในลักษณะรัฐรวมแบบสหพันธรัฐ เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่แต่ละมลรัฐต่างก็มีรัฐธรรมนูญของมลรัฐตนเอง และมีรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐที่กำหนดหลักเกณฑ์การปกครองร่วมกันของมลรัฐอีกฉบับหนึ่ง รัฐธรรมนูญของรัฐรวมแบบสหพันธรัฐ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศเยอรมนี ประเทศรัสเซีย ประเทศบราซิล ประเทศออสเตรเลีย ประเทศอินเดีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศอัฟริกาใต้ ประเทศไนจีเรีย เป็นต้น
3.1.2 การแบ่งแยกตามวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
การแบ่งแยกตามวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามเกณฑ์นี้รัฐธรรมนูญจะแบ่ง
ออกเป็น 2 ประเภท คือ รัฐธรรมนูญที่แก้ไขง่ายกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก ดังนี้
3.2.1.1 รัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมง่าย
รัฐธรรมนูญที่แก้ไขง่าย ซึ่งเป็นเพียงกฎหมายธรรมดา (พระราชบัญญัติ) รัฐสภาจะแก้ไขเมื่อใดก็ได้ ซึ่งหมายความว่ารัฐธรรมนูญจารีตประเพณีจะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขง่ายเสมอ เพราะไม่ได้มีความเป็นกฎหมายสูงสุด รัฐธรรมนูญที่แก้ไขง่ายเช่น ประเทศอังกฤษ, ประเทศนิวซีแลนด์, ประเทศอิสราเอล เป็นต้น
3.2.1.2 รัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมยาก
รัฐธรรมนูญที่แก้ไขยากโดยหลักรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรส่วนใหญ่แก้ไขยาก ซึ่งย่อมมีความเป็นสูงสุดของกฎหมายไว้ ดังนั้นจึงแสดงออกมาในการตราและการแก้ไขเพิ่มเติมยากกว่ากฎหมายธรรมดา (พระราชบัญญัติ) รัฐธรรมนูญที่แก้ไขยากเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา, ประเทศฝรั่งเศส, ประเทศไทย เป็นต้น
3.1.3 การแบ่งแยกตามกำหนดเวลาในการใช้รัฐธรรมนูญ
การแบ่งแยกตามกำหนดเวลาในการใช้ ตามวิธีนี้รัฐธรรมนูญจะแบ่งออกเป็น 2
ประเภท คือ รัฐธรรมนูญชั่วคราวกับรัฐธรรมนูญถาวร ดังนี้
3.1.3.1 รัฐธรรมนูญชั่วคราว
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หมายถึง รัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นมาเพื่อประกาศใช้ชั่วคราว คือ รอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นมาใช้บังคับต่อไป รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2549 (ฉบับชั่วคราว) เป็นต้น
3.1.3.2 รัฐธรรมนูญถาวร
รัฐธรรมนูญฉบับถาวร หมายถึง รัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นมาใช้บังคับอย่างถาวร คือ ใช้บังคับได้ตลอดเวลาจนกว่าจะมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนั้นหรือมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รัฐธรรมนูญฉบับถาวร เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1789 รัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศส ค.ศ.1958 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เป็นต้น
3.1.4 การแบ่งแยกตามวิธีการบัญญัติรัฐธรรมนูญ
การแบ่งแยกตามวิธีการบัญญัติตามเกณฑ์นี้รัฐธรรมนูญแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ รัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรกับรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้รวบรวมไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนี้
3.1.4.1 รัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
รัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร (Written Constitutional Law) คือ เอกสารฉบับเดียวที่กำหนดกฎเกณฑ์การปกครองประเทศขึ้นไว้และได้จัดทำด้วยวิธีการแตกต่างจากการจัดทำกฎหมายธรรมดา เช่น การกำหนดบุคคลที่เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กระบวนการพิจารณาย่อมมีความแตกต่างไปจากและพิเศษกว่ากฎหมายธรรมดา เป็นต้น
3.1.4.2 รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้รวบรวมไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้รวบรวมไว้เป็นลายลักษณ์อักษร (Unwritten Constitutional Law) คือ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีที่ไม่ได้มีผู้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่เกิดขึ้นโดยธรรมเนียมปฏิบัติกันมา จึงมีการเรียกกันว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี” ใช้ปกครองประเทศเป็นหลัก แต่ก็มีกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรช่วยเสริมให้การปกครองปกครองมีความมั่นคงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลักการแบ่งประเภทของรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการแบ่งแยกตามทฤษฎีเท่านั้นซึ่งแม้แต่ในทางทฤษฎีเองก็ยังมีความเห็นแย้งกัน ขึ้นอยู่กับว่าผู้แบ่งจะถืออะไรเป็นเกณฑ์ แต่การแบ่งประเภทของรัฐธรรมนูญที่มีความสำคัญในทางวิชาการ คือการแบ่งประเภทของรัฐธรรมนูญตามวิธีการบัญญัติรัฐธรรมนูญ คือ รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร กับรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้รวบรวมไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
3.2 การแบ่งประเภทของรัฐธรรมนูญที่มีความสำคัญในทางวิชาการ
การแบ่งประเภทของรัฐธรรมนูญที่มีความสำคัญอย่างมากในทางวิชาการ คือ การแบ่งประเภทของรัฐธรรมนูญตามวิธีการบัญญัติรัฐธรรมนูญ คือ รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร (Written Constitutional Law) กับรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้รวบรวมเป็นลายลักษณ์อักษร (Unwritten Constitutional Law) เรียกว่า "กฎหมายรัฐธรรมนูญจารีตประเพณ"ี (Customary Constitutional Law)
ปัจจุบันประเทศต่างๆ ได้บัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วเกือบทั้งสิ้น ยกเว้นประเทศอังกฤษที่ยังคงใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี
3.2.1 รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร
รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร (Written Constitutional Law) คือ เอกสารฉบับเดียวที่กำหนดกฎเกณฑ์การปกครองประเทศขึ้นไว้และได้จัดทำด้วยวิธีการแตกต่างจากการจัดทำกฎหมายธรรมดา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความแน่นอนในการให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน สำหรับประเทศที่บัญญัติไว้ในเอกสารฉบับเดียว เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1789 รัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศส ค.ศ. 1958 เป็นต้น
การที่กล่าวว่าเป็นเอกสารที่มีวิธีการจัดทำเป็นพิเศษแตกต่างจากการจัดทำกฎหมายธรรมดา เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษกว่ากฎหมายอื่นๆ ตรงที่มีศักดิ์และฐานะสูงกว่ากฎหมายอื่นๆทั้งหมด ซึ่งจะส่งผล 2 ประการ ดังนี้
3.2.1.1 กฎหมายอื่นจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมิได้
กฎหมายอื่นจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมิได้ โดยต้องมีองค์กรขึ้นมาคุ้มครองสถานะความสูงสุดของรัฐธรรมนูญ มิให้กฎหมายออกมาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะเป็นองค์กรทางการเมือง องค์กรกึ่งทางการเมือง หรือองค์กรตุลาการก็ได้แล้วแต่ละประเทศที่นำมาปรับใช้ให้เหมาะในการปกครองประเทศ
3.2.1.2 การจัดทำและการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกระทำได้ยาก
การจัดทำและการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกระทำได้ยากไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแก้ไขเพิ่มเติมโดยองค์กรหรือวิธีการพิเศษยิ่งกว่าการแก้ไขกฎหมายอื่นๆ เราเรียกสภาพนี้ว่า “ความเป็นกฎหมายสูงสุดที่มั่นคงของรัฐธรรมนูญ”
ข้อสังเกต รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นมีข้อดีและข้อเสียดังนี้
1.ข้อดีของรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร คือ ปรากฏเป็นบทบัญญัติที่มีข้อความแน่นอนทำให้นักการเมืองและผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทราบและเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการเมืองได้อย่างชัดเจนเป็นการสร้างหลักประกันเพื่อมิให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ
ข้อเสียของรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร คือ มีลักษณะตายตัวและมีกระบวนการแก้ไขยากอาจไม่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์บ้านเมือง
3.2.2 รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้รวบรวมไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้รวบรวมไว้เป็นลายลักษณ์อักษร (Unwritten Constitutional Law) คือ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีที่ไม่ได้มีผู้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่เกิดขึ้นโดยธรรมเนียมปฏิบัติกันมา ซึ่งเรียกว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี” ในปัจจุบันมีใช้อยู่น้อยมาก ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็มีประเทศอังกฤษ กฎหมายรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี นี้จะไม่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จะยึดถือแนวทางที่เคยปฏิบัติมาเป็นเวลายาวนานในเรื่องอำนาจต่างๆ กับการบริหารประเทศ ถึงแม้จะไม่ได้บัญญัติรัฐธรรมนูญไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม แต่ก็จะมีบทบัญญัติของกฎหมายอื่นที่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นส่วนประกอบของรัฐธรรมนูญ ทำให้กฎหมายรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีสมบูรณ์ขึ้นและรวมไปถึงคำพิพากษาของศาลยุติธรรมดังนี้
3.2.2.1 กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศอังกฤษที่ปรากฏในรูปของกฎหมายลายลักษณ์อักษร
กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศอังกฤษ ที่ปรากฏในรูปของกฎหมายลายลักษณ์อักษรซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา เช่น
1. ฉบับที่ 1 Petition of Right ค.ศ.1628 เป็นเอกสารซึ่งพระมหากษัตริย์ยอมมอบสิทธิและเสรีภาพบางประการให้แก่ราษฎร
2. ฉบับที่ 2 Bill of Right ค.ศ.1689 เป็นเอกสารที่พระมหากษัตริย์ประทานสิทธิและเสรีภาพของราษฎรให้แก่ราษฎรเพิ่มเติมจากที่ปรากฏในเอกสารฉบับที่ 1 ซึ่งเอกสารฉบับนี้ได้วางหลักสำคัญไว้ว่า “ไม่มีภาษีโดยไม่มีผู้แทน” หมายความว่าพระมหากษัตริย์จะเรียกเก็บภาษีอากรจากราษฎรได้แต่โดยความยินยอมของรัฐสภา ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนเท่านั้น
3. ฉบับที่ 3 Parliament ค.ศ.1911 เป็นเอกสารที่ตราโดยรัฐสภา ซึ่งบัญญัติว่ารัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาสามัญ (House of Commons) และ สภาสูงหรือสภาขุนนาง (House of Lords) และกำหนดอำนาจหน้าที่ของแต่ละสภาตลอดจนกระบวนการที่แต่ละสภาจะต้องปฏิบัติ
4. ฉบับที่ 4 Regency Bill ค.ศ.1937 เป็นเอกสารที่ตราเป็นกฎหมายว่าด้วยการรักษาราชการแทนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรียกว่า “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ในกรณีพระมหากษัตริย์ยังทรงพระเยาว์และยังไม่บรรลุนิติภาวะปกครองบ้านเมืองได้ เป็นต้น
3.2.2.2 กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศอังกฤษในรูปแบบกฎหมายประเพณี
กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศอังกฤษ ในรูปแบบกฎหมายประเพณี เช่น
1. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ต้องตราขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ และพระมหากษัตริย์ต้องทรงพระปรมาภิไธยประกาศใช้กฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นกฎหมายประเพณีที่ผ่านความเห็นชอบของสภาสูงและสภาสามัญและพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ จะนำไปลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันที โดยไม่มีพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ไม่ได้
2. การแยกรัฐสภาออกเป็น 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรหรือสภาสามัญและสภาสูง หรือสภาขุนนาง กล่าวคือ ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับใดบัญญัติว่ารัฐสภาของประเทศอังกฤษประกอบไปด้วย 2 สภา แต่เป็นกฎหมายประเพณี
3.หลักความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี ความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะและรายบุคคลต่อสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น คณะรัฐมนตรีทั้งคณะหรือรายบุคคลไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อสภาสูง (สภาขุนนาง) ซึ่งหมายความว่า เฉพาะแต่สภาผู้แทนราษฎร (สภาสามัญ) เท่านั้นที่จะเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีทั้งคณะหรือรายบุคคล ซึ่งข้อกำหนดนี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร เป็นต้น
3.2.2.3 คำพิพากษาของศาลยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง
คำพิพากษาของศาลยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองของรัฐโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งคำพิพากษามีที่มาได้ 2 ทางคือ
1.กฎข้อบังคับต่างๆที่มีคำพิพากษา
2.การตีความกฎหมายอันยึดถือเป็นกฎหมายที่ศาลสร้างขึ้นใหม่
ข้อสังเกต รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้รวบรวมไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีข้อดี ข้อเสียดังนี้
1. ข้อดีของรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้รวบรวมไว้เป็นลายลักษณ์อักษร คือ มีลักษณะยืดหยุ่น ไม่แข็งกระด้างตายตัว สามารถปรับให้เข้าสถานการณ์บ้านเมืองได้
2.ข้อเสียรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้รวบรวมไว้เป็นลายลักษณ์อักษร คือ ไม่ได้บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนแน่นอน ทำให้เกิดมีปัญหากันได้เสมอว่ารัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติอย่างไรและอาจนำไปสู่การโต้เถียงกันได้ว่า จารีตประเพณีในเรื่องหนึ่งเรื่องใดยังคงมีอยู่หรือได้ยกเลิกไปโดยปริยายแล้ว
สรุปได้ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศอังกฤษ ประกอบด้วยทั้งส่วนที่เป็นกฎหมายประเพณี และส่วนที่เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร นอกจากนั้นแล้วยังมีสิ่งที่เราเรียกว่า “จารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญ” เหตุผลที่เรายังคงเรียกรัฐธรรมนูญอังกฤษว่าเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญประเพณีก็เพราะว่าบรรดากฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญ คือ กฎเกณฑ์ที่จัดระบบรูปแบบของรัฐก็ดี ที่จัดระเบียบแห่งการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐในมุมใดมุมหนึ่งก็ดี จะกระจัดกระจายไม่อยู่รวมเป็นเอกสารฉบับเดียวกัน โดยกระจัดกระจายไปในกฎหมายที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรหลายๆฉบับ ในส่วนที่เป็นกฎหมายประเพณีก็กระจัดกระจายไม่ได้มีการรวบรวมมาให้เป็นหมวดหมู่เป็นระบบระเบียบในเอกสาร ไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆเช่น รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศส หรือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นต้น
Search