กรณีศึกษา “Silver Thursday” การไล่ซื้อแร่เงิน จนตัวเองขาดทุนกว่า 100,000 ล้านบาท /โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึง วันที่เลวร้ายในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา
หลายคนอาจนึกถึง Black Monday ที่เกิดขึ้นในปี 1987
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกตกลงอย่างมากในระยะเวลาอันสั้น
แต่ถ้าพูดถึงเหตุการณ์ลักษณะนี้ ที่เกิดขึ้นในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์
มันก็จะมีเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “Silver Thursday”
ที่ราคาแร่เงิน ร่วงลงอย่างหนักภายในวันเดียว
เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร และใครได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์นี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
Silver Thursday เกิดขึ้นใน วันพฤหัสบดี ที่ 27 มีนาคม 1980
โดยตัวละครที่สำคัญของเรื่องนี้คือ “3 พี่น้องตระกูล Hunt”
ซึ่งประกอบไปด้วย Nelson Bunker Hunt, Lamar Hunt และ William Herbert Hunt
ทั้ง 3 คนเป็นลูกของ H. L. Hunt มหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่ร่ำรวยมาจากการเทรดน้ำมัน
จุดเริ่มต้นของหายนะก่อตัวขึ้นในปี 1979
เมื่อ 3 พี่น้องตระกูล Hunt เริ่มมีความคิดสุดโต่งว่า เงินดอลลาร์ที่พวกเขาถืออยู่นั้นจะมีค่าด้อยลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากเงินเหล่านี้เป็นเพียงแค่ “เงินกระดาษ (Fiat Money)” ที่ไม่ได้มีค่าในตัวเอง แต่มันเป็นที่ต้องการเพียงแค่เพราะรัฐบาลประกาศให้เป็นเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
ดังนั้น เพื่อรักษาอำนาจซื้อของพวกเขา ทั้ง 3 คนจึงพยายามที่จะไล่ซื้อ “แร่เงิน” ที่เชื่อว่ามีมูลค่าในตัวเอง มาเก็บแทน
พวกเขาเริ่มทุ่มเงินจำนวนมากซื้อแร่เงิน ผ่านการซื้อสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเป็นตราสารที่อ้างอิงราคาของแร่เงินในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ จนผลักดันให้ราคาแร่เงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทั้ง 3 พี่น้องไม่เพียงแต่ใช้เงินตนเองเท่านั้น
พวกเขายังกู้ยืมเงินจากบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มกำลังซื้อด้วย
ซึ่งการกู้ยืมดังกล่าวเรียกว่า การใช้ “มาร์จิน”
กรณีที่มาร์จินถูกนำมาใช้ ถ้าเมื่อใดที่ราคาของสินทรัพย์นั้นเริ่มลดลงไปถึงระดับหนึ่ง บริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ จะขอให้ผู้กู้ฝากเงินเป็นหลักประกันเพิ่ม ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า Margin Call
ถ้าผู้กู้ไม่สามารถหาเงินมาฝากเพิ่มได้ทันตามกำหนด
บริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ จะสามารถบังคับขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ในพอร์ตของผู้กู้คนนั้นได้ทันที
ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นหายนะสำหรับคนที่ไปกู้มาร์จิน เหมือนกับ 3 พี่น้องตระกูล Hunt กำลังจะต้องเจอ..
ช่วงแรกที่ทั้ง 3 คนเข้าไปไล่ซื้อสัญญาล่วงหน้าของแร่เงินนั้น ราคาแร่เงินนั้นปรับเพิ่มขึ้นแบบติดจรวด
- มกราคม 1979 ราคาแร่เงิน เท่ากับ 0.195 ดอลลาร์สหรัฐต่อกรัม
- มกราคม 1980 ราคาแร่เงิน เท่ากับ 1.590 ดอลลาร์สหรัฐต่อกรัม
หรือราคาแร่เงินปรับเพิ่มขึ้น 715% ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปี
ในเวลานั้น มีการประเมินกันว่า ปริมาณแร่เงินที่ 3 พี่น้องตระกูล Hunt เข้ามาซื้อผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นมีปริมาณรวมกันถึง 1 ใน 3 ของปริมาณแร่เงินในโลก ณ ขณะนั้น
แร่เงินนั้น ถือเป็นแร่ที่มีความสำคัญกับหลายอุตสาหกรรม
เนื่องจากถูกนำไปใช้ในการทำเงินเหรียญ เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย ภาชนะบนโต๊ะอาหาร รวมไปถึงส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด
ราคาของแร่เงินที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงสร้างผลกระทบให้แก่หลายอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แร่ชนิดนี้เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้า
จนหลาย ๆ บริษัทที่ได้รับผลกระทบ ได้ออกมาประณามการกระทำของ 3 พี่น้องตระกูล Hunt ผู้เป็นตัวการหลักในการปั่นราคาแร่เงินให้พุ่งขึ้นมาในครั้งนี้ ว่าไร้ซึ่งสามัญสำนึก และเป็นการบิดเบือนตลาด
ไม่นาน คณะกรรมการของ New York Mercantile Exchange (NYMEX) ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ได้เข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้ ด้วยการออกกฎที่ชื่อว่า “Silver Rule 7” ที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่องการใช้มาร์จินในการซื้อขาย
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ก็ทำให้นักลงทุนที่เข้ามาเก็งกำไรเริ่มหวาดวิตก และเริ่มเทขายแร่เงินออกไป ทำให้ราคาแร่เงินปรับตัวลดลงกว่า 50% ในระยะเวลาเพียง 4 วันหลังจากที่กฎเกณฑ์ดังกล่าวถูกนำมาใช้
ซึ่งคนที่บาดเจ็บหนักที่สุดจากเรื่องนี้ก็จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก 3 พี่น้องตระกูล Hunt..
บริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หลายแห่งที่ทั้ง 3 คนไปกู้เงินมา ต้องขอเรียกเงินเป็นหลักประกันเพิ่ม เป็นมูลค่ารวมกันประมาณ 10,400 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบันที่ปรับด้วยเงินเฟ้อ)
และยังมีอีกหลายธนาคารที่ให้พวกเขากู้ยืมเงินไปด้วย
ซึ่งทั้ง 3 คนก็ไม่สามารถหาเงินมาเพิ่มได้ทัน และกำลังจะต้องโดนบังคับขายสินทรัพย์ในพอร์ตออกไป
เรื่องนี้ยังได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาดซื้อขายล่วงหน้าของสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ และรวมไปถึงตลาดการเงินอีกด้วย
ในตอนนั้น หลายคนเริ่มแสดงความกังวลว่า หาก 3 พี่น้องตระกูล Hunt ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้บริษัทนายหน้าและธนาคารขนาดใหญ่บางแห่งที่ให้พวกเขากู้ยืม อาจถึงขนาดต้องล้มละลาย
ความโกลาหลในวันพฤหัสบดี ที่ 27 มีนาคม 1980 นั้น
ทำให้เกิดแรงเทขายแร่เงิน รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์และสินทรัพย์อื่นอย่างหนัก
จนเกิดเป็นเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “Silver Thursday”
ก่อนที่เรื่องจะเลวร้ายมากไปกว่านี้ สมาคมธนาคารของสหรัฐอเมริกา ก็ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเรื่องนี้
โดยการร่วมกันให้วงเงินกู้ยืมจำนวน 115,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบันหลังปรับด้วยเงินเฟ้อ) แก่ทั้ง 3 พี่น้อง เพื่อให้นำไปจ่ายคืนแก่เจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้ให้
โดยแลกกับการเอาสินทรัพย์ของครอบครัว Hunt มาใช้เป็นหลักประกัน ซึ่งสุดท้ายก็ทำให้พวกเขาสามารถนำเงินไปคืนเจ้าหนี้ ที่พวกเขาไปกู้ยืมมาได้ทันเวลา
เรื่องราวนี้ก็ปิดฉากลง ด้วยการที่ 3 พี่น้องตระกูล Hunt ขาดทุนจากการไล่ซื้อแร่เงินในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในครั้งนี้ มากกว่า 100,000 ล้านบาท
จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นพวกเขาก็ยังมีทรัพย์สินหลงเหลืออยู่ ซึ่งเป็นทรัพย์สินในธุรกิจน้ำมัน น้ำตาล และอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ตามสินทรัพย์ที่เขาถือค่อย ๆ ลดลงในช่วงปี 1980-1988
และในเวลาต่อมาพวกเขาโดนค่าปรับจากทางการ ในข้อหาบิดเบือนตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อีกหลายหมื่นล้านบาท ทำให้พวกเขาต้องประกาศล้มละลาย ในที่สุด..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.investopedia.com/terms/s/silver_thursday.asp
-https://en.wikipedia.org/wiki/Silver_Thursday
-https://en.wikipedia.org/wiki/H._L._Hunt
-https://en.wikipedia.org/wiki/Silver
-https://en.wikipedia.org/wiki/New_York_Mercantile_Exchange
-https://www.in2013dollars.com/us/inflation/1980
Search