ในปัจจุบันคนอาจจะคุ้นเคยกับ The Shawshank Redemption ในฐานะหนังที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของเว็บ IMDb และรู้จักกันในฐานะหนังเข้าชิง 7 รางวัลออสการ์ในปีเดียวกับ Forrest Gump แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าในปีที่หนังออกฉาย ชื่อ The Shawshank Redemption ถูกจับเข้ากลุ่มหนังเจ๊งแห่งปี หนังเข้าฉายวงกว้าง 3 วันแรกยังทำเงินได้น้อยกว่า Exit to Eden หนังแนวคอมเมดี้ทะลึ่งตึงตังของผู้กำกับ Pretty Woman, ทำเงินน้อยกว่า Forrest Gump ที่ฉายมาเกือบ 3 เดือนแล้ว, และทำเงินมากกว่า Quiz Show ที่เข้าฉายสัปดาห์ 2 เพียงนิดเดียว โดยทำเงินเฉลี่ยตอนฉายวงกว้างสัปดาห์แรกเพียง 3,541เหรียญสหรัฐฯ ทั้งที่ตอนฉายจำกัด 33 โรง สามารถทำเงินเฉลี่ยถึง 31,465 เหรียญฯ และในสัปดาห์ต่อมาก็ยังได้เงินเฉลี่ยถึง 23,636 เหรียญฯ แทบไม่เห็นวี่แววว่าจะล้มเหลวในการฉายวงกว้างเลย
.
ตลอดการฉายในสหรัฐอเมริกา The Shawshank Redemption ทำรายได้เพียง 16 ล้านเหรียญฯ ก่อนที่หลังประกาศผลรางวัลออสการ์ จะมีคนสนใจหาดูเพิ่มจนทำเงินไปอีก 12 ล้านเหรียญฯ รวมเป็น 28 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 25 ล้านเหรียญฯ ไม่รวมค่าการตลาดและส่วนแบ่งให้โรงหนัง จึงกลายเป็นหนังเจ๊งแห่งปี
.
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังพยายามคาดเดาสาเหตุที่หนังล้มเหลวในการฉายโรง เริ่มจาก ลิซ กล็อตเซอร์ โปรดิวเซอร์ของหนังเชื่อว่ารีวิวจากนักวิจารณ์ที่บอกว่าหนังขาดความสดใส/น่าเบื่อ ทำให้คนดูจำนวนไม่น้อยเลือกจะข้ามหนังไป, ทิม ร็อบบินส์และมอร์แกน ฟรีแมน สองนักแสดงนำเชื่อว่าชื่อหนังจำยากเกินไป มีบางคนเดินมาบอกว่าชอบหนังของเขามาก เรื่อง Scrimshaw Reduction, Shinkshonk Reduction, หรือเลวร้ายกว่านั้นคือเรียกชื่อหนังว่า Shimmy, Shimmy, Shake (เพี้ยนอะไรขนาดนั้น), ในขณะที่อีกปัจจัยสำคัญคือหนังเข้าฉายพร้อมกับการเปิดตัวสัปดาห์แรกของ Pulp Fiction ที่เพิ่งชนะรางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลหนังเมืองคานส์, บ้างก็ว่าเพราะหนังไม่มีนักแสดงหญิง, และบางคนก็วิเคราะห์ว่าหนังเกี่ยวกับคุกไม่ใช่ที่นิยมอยู่แล้ว
.
หลังจากล้มเหลวในการฉายโรงแล้ว สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นคือ The Shawshank Redemption กลายเป็นหนังที่มีคนเช่าดูมากที่สุดอันดับหนึ่งของปี 1995 จากกระแสปากต่อปาก ได้รับคำชมจากคนดูทั้งเพศชายและหญิง แถมมีคนจำนวนไม่น้อยเช่าดูซ้ำอีก ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าหนังดีแม้จะไม่ทำเงินตอนฉาย แต่หากมีคนได้ลองดูแล้วชอบจนเกิดการบอกต่อแนะนำให้คนรอบข้างดูตาม มันจะเกิดปรากฎการณ์เป็นกระแสปากต่อปากที่ทำให้หนังประสบความสำเร็จในแง่เสียงตอบรับจากคนดูได้อยู่ดี
.
เบื้องหลังความสำเร็จขึ้นแท่นหนังอันดับ 1 ของเว็บ IMDb อาจจะต้องย้อนไปถึงปี 1980 เมื่อนักเรียนหนังหน้าใหม่ไฟแรงนามว่า 'แฟรงค์ ดาราบอนท์' ในวัย 21 ปี ได้ติดต่อสตีเฟน คิง เพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์เรื่องสั้น The Woman in the Room ไปทำเป็นหนังสั้นในราคาเพียง 1 เหรียญฯ หลายคนอาจจะตกใจว่าทำไมราคาถูกขนาดนั้น นั่นเป็นเพราะคิงมีโปรเจ็คต์ส่วนตัวที่เรียกว่า The Dollar Deal หรือ Dollar Baby เป็นโครงการขายลิขสิทธิ์เรื่องสั้นให้นักศึกษาเอาไปทำหนังในราคาแค่ 1 เหรียญฯ จุดประสงค์ตรง ๆ เลยคือช่วยเหลือคนทำหนังหน้าใหม่ด้วยการให้โอกาสเอาเรื่องสั้นไปดัดแปลงในราคาสบายกระเป๋า
.
จุดเริ่มต้นของ Dollar Baby เกิดขึ้นในช่วงปี 1977 ซึ่งสตีเฟน คิง เริ่มมีชื่อเสียงจาก Carrie ที่เขียนในปี 1974 ก่อนจะถูกนำไปสร้างเป็นหนังปี 1976 กำกับโดย ไบรอัน เดอ พาลมา และ The Shining ก็เป็นนิยายที่ตีพิมพ์ปี 1976 โดยในช่วงนั้นเริ่มมีนักศึกษาหนังเขียนมาสอบถามเขาถึงความเป็นไปได้ในการเอาเรื่องสั้นไปทำเป็นหนังสั้น แต่ฝ่ายบัญชีคัดค้านเพราะกังวลความยุ่งยากหลายประการด้านกฎหมาย สตีเฟน คิงจึงกำหนดนโยบายส่วนตัวขึ้นมา คือยินดีให้สิทธิ์นักศึกษาเอาเรื่องสั้นของเขาไปดัดแปลงเป็นหนังในราคา 1 เหรียญฯ โดยลิขสิทธิ์ในตัวหนังจะเป็นของเขา และยังให้นักศึกษาเซ็นสัญญายอมรับข้อตกลงว่าไม่สามารถเอาไปฉายเชิงพาณิชย์ ยกเว้นคิงอนุญาต
.
ซึ่งพอดาราบอนท์ทำหนังสั้น The Woman in the Room ออกมาให้สตีเฟน คิง ประทับใจ ก็เหมือนเป็นการผูกมิตรกันเรียบร้อย จนกระทั่งปี 1987 ดาราบอนท์ก็เริ่มเข้าวงการหนังเต็มตัวด้วยการเป็นหนึ่งในคนเขียนบท A Nightmare on Elm Street 3: Dream Warriors จากงานของเวส คราเวน ซึ่งเป็นแนวสยองขวัญ แต่เขาก็ยังไม่ได้กำกับหนังสักที ตอนนั้นเขาสนใจนิยายเรื่อง The Mist ของสตีเฟน คิง ที่ว่าด้วยหมอกปกคลุมเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งแล้วยังมีสัตว์ประหลาดกระหายเลือดอยู่ในหมอก แต่กลัวว่าถ้าเขากำกับหรือเขียนบทเรื่องนี้จะทำให้ตัวเองถูกตีตราว่าเป็นผู้กำกับสายสยองขวัญ ซึ่งเขาไม่ต้องการเช่นนั้น (ภายหลังในปี 2007 เขาก็ได้กำกับและเขียนบทเรื่องนี้สมใจ)
.
ดังนั้นเขาเลยติดต่อสตีเฟน คิง ขอซื้อสิทธิ์เรื่องสั้น Rita Hayworth and the Shawshank Redemption ที่ตีพิมพ์ในปี 1982 มาทำเป็นหนังแทน โดนสตีเฟน คิง ไม่ค่อยมั่นใจว่าเรื่องสั้นนี้จะสามารถดัดแปลงเป็นหนังยาวได้ แต่อาจจะด้วยความไว้วางใจดาราบอนท์จึงยอมขายสิทธิ์ให้ในราคา 1,000 เหรียญฯ ซึ่งภายหลังคิงก็ได้คืนเช็คเงินดังกล่าวให้ดาราบอนท์ พร้อมเขียนโน้ตขำขันบอกว่า "เผื่อคุณต้องใช้เงินประกันตัว" ทำให้ในทางปฏิบัติจริง ๆ ดาราบอนท์เหมือนได้ลิขสิทธิ์เรื่องสั้นจากคิงมาทำหนัง The Shawshank Redemption ฟรี ๆ
.
เขาใช้เวลาหลายปีเหมือนกันในการเขียนสคริปต์บทหนัง ก่อนจะส่งไปให้ Castle Rock บริษัทที่ทำหนังเรื่อง Stand by Me ที่ดัดแปลงจากนิยายของสตีเฟน คิง กำกับโดยร็อบ ไรเนอร์ ซึ่ง ลิซ กล็อตเซอร์ โปรดิวเซอร์อ่านสคริปต์แล้วชอบมาก เช่นเดียวกับไรเนอร์ที่แสดงความสนใจจะกำกับหนังเรื่องนี้เอง โดยยื่นข้อเสนอ 2.5 ล้านเหรียญฯ ในการขอซื้อสิทธิ์บทหนังต่อจากดาราบอนท์ และเตรียมให้ทอม ครูซ มาประกบคู่กับแฮริสัน ฟอร์ด (นึกภาพสองคนนี้มาแทน ทิม ร็อบบินส์ กับมอร์แกน ฟรีแมน) แต่สุดท้ายดาราบอนท์ยืนกรานเสียงแข็งว่าเขาจะต้องได้กำกับเอง แม้ไม่เคยมีเครดิตกำกับหนังยาวมาก่อนแต่เขาก็เชื่อว่าตัวเองในฐานะคนคลุกคลีกับบทหนังเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นน่าจะเป็นคนที่เข้าใจวัตถุดิบได้ดีที่สุด
.
แม้ว่าในตอนหนังฉายโรงจะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่การที่ดาราบอนท์ มีชื่อเข้าชิงออสการ์ในฐานะคนเขียนบทหนัง และการที่หนังได้กระแสบอกปากต่อปากตอนลงม้วนวิดีโอ น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จได้เป็นอย่างดี แม้จะไม่มีอันดับ 1 ของเว็บ IMDb มาช่วยยืนยันก็ตาม
อ้างอิง
- https://www.mentalfloss.com/article/597842/the-shawshank-redemption-box-office-bomb-to-hit
- https://www.indiewire.com/2019/10/tim-robbins-blames-shawshank-box-office-flop-bad-title-1202181602/
- https://en.wikipedia.org/wiki/Dollar_Baby
#หนังโปรดของข้าพเจ้า
Search