สรุป วิธีการแบ่งหุ้นในบริษัท จากซีรีส์เรื่อง START-UP
ถ้าเรากับเพื่อน ร่วมก่อตั้งบริษัทแห่งหนึ่งขึ้นมาด้วยกัน
การแบ่งหุ้นในบริษัทให้เราและเพื่อนเท่าๆ กัน ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
แต่สำหรับธุรกิจ Start-up อาจไม่ได้เป็นแบบนี้เสมอไป
เพราะการแบ่งหุ้นอย่างเท่าเทียมอาจสร้างปัญหาใหญ่ตามมาในภายหลัง
ซึ่งเราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการแบ่งหุ้นในธุรกิจ Start-up ได้ จากตอนที่ 6 ของซีรีส์เรื่อง “START-UP” ที่กำลังเป็นที่นิยมใน Netflix ตอนนี้
แล้วซีรีส์เรื่อง Start-up บอกอะไรเราไว้บ้าง
และเรื่องนี้สำคัญกับคนที่กำลังจะสร้างธุรกิจ Start-up อย่างไร?
เราจะมาคุยกันใน LTG Talk กันค่ะ
สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดู ต้องขอเตือนก่อนนะคะว่า ในวิดีโอนี้อาจมีการเปิดเผยเนื้อหาในซีรีส์บางส่วนนะคะ
ซีรีส์เรื่อง START-UP เป็นเรื่องราวของหนุ่มสาวที่กำลังเดินตามความฝัน ในการสร้างธุรกิจ Start-up ให้ประสบความสำเร็จ
ซึ่งตัวละครหลักในเรื่องนี้ ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท Start-up ที่ชื่อว่า “ซัมซานเทค”
โดยที่ ซัมซานเทค เป็น Start-up ที่อาศัยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาพัฒนาเป็นบริการ เช่น การวิเคราะห์ใบหน้า และลายมือ
ซึ่ง คนแรกที่ก่อตั้งบริษัทนี้ก็คือ คือ “นัมโดซาน” และเขายังเป็นนักพัฒนาคนสำคัญในบริษัทนี้ด้วย
ซึ่งในภายหลัง ก็มี “คิมยงซาน” และ “อีชอลซาน” เข้ามาร่วมสร้างและพัฒนาบริษัทนี้ด้วยกัน
แต่จุดอ่อนของบริษัทนี้อยู่ที่ ผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสามคน ล้วนเป็น “นักพัฒนา” หรือ Developer เหมือนกันหมด
ทำให้ ซัมซานเทค ขาดคนที่มีทักษะด้านการบริหาร และไม่มีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน
นอกจากนี้บริษัทยังไม่สามารถโน้มน้าวให้นักลงทุน หรือ VC (ธุรกิจสำหรับการร่วมลงทุน) มาร่วมลงทุนได้
ต่อมาซัมซานเทค ก็ได้พบกับ “ซอดัลมี”
ซึ่งเธอคนนี้มีสิ่งที่ทั้งสามผู้ก่อตั้ง ซัมซานเทค ขาดหายไป
และได้กลายมาเป็น CEO ของซัมซานเทค
ต่อมาเธอก็ได้ชักชวน “จองซาฮา” ให้เข้ามาเป็นดีไซเนอร์ของบริษัทอีกหนึ่งคน
กลายเป็นว่า ในตอนนี้ ซัมซานเทค มีคนที่เข้ามามีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทแล้วทั้งหมด 5 คนด้วยกัน
ซึ่งหลังจากนี้ ทั้ง 5 คนก็ต้องเข้าสู่กระบวนการ “การแบ่งหุ้นในบริษัท”
โดยเริ่มแรก พวกเขาแบ่งหุ้นให้เท่าๆ กัน อย่างเท่าเทียม ดังนี้
นัมโดซาน ถือหุ้น 19%
ส่วนสมาชิกคนอื่นๆในทีม
และพ่อของนัมโดซาน ซึ่งเป็นผู้ออกทุนในช่วงแรก
ก็ได้รับหุ้นไปเท่าๆกันอยู่ที่ 16%
และอีก 1% ที่เหลือ มอบให้กับญาติของนัมโดซาน ผู้ที่เคยช่วยออกแบบและตัดต่อวิดีโอ
ดูเหมือนว่า การแบ่งหุ้นอย่างยุติธรรมในสัดส่วนที่เท่าๆ กันนี้ จะทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจ และยังช่วยป้องกันไม่ให้ใครยึดบริษัทไปเป็นของตัวเองได้ง่ายๆ
แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปไปนะคะ
เพราะสำหรับธุรกิจ Start-up การแบ่งหุ้นเช่นนี้อาจส่งผลเสียอย่างที่เราคาดไม่ถึง
สำหรับ Start-up ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาใหม่ๆ
สิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่จะเข้ามาลงทุน
เนื่องจากธุรกิจ Start-up ส่วนใหญ่จะเติบโตได้ ต้องอาศัยเงินจากนักลงทุน หรือ Venture Capital (VC)
เพื่อให้มีเงินทุนมากพอที่จะนำมาพัฒนาสินค้าและบริการของบริษัท
ดังนั้น การที่ซัมซานเทคแบ่งหุ้นให้เจ้าของแต่ละคนเท่าๆ กัน จะทำให้ผู้ลงทุนมองว่า ผู้นำของบริษัทไม่มีอำนาจที่ชัดเจน และกลายเป็นจุดอ่อนให้กับบริษัทได้
เนื่องจาก “อำนาจ” ในการบริหาร สามารถสะท้อนได้จากจำนวนหุ้นที่ถืออยู่
ยิ่งถือหุ้นอยู่มากเท่าไร อำนาจในการโหวต หรือออกเสียงก็จะมากตามไปด้วย
แต่หากผู้ถือหุ้นทุกคน มีสัดส่วนการถือหุ้นใกล้เคียงกัน
ถ้าในอนาคตผู้ถือหุ้นเกิดมีปัญหากันขึ้นมาแล้วตกลงกันไม่ได้
อีกทั้งต่างฝ่ายต่างก็มีเสียงโหวตเท่าๆ กัน
ในบางกรณีอาจจะจบลงด้วยการยุบบริษัทได้
และนั่นหมายความว่า เงินของผู้ที่เข้าลงทุนจะสูญเปล่าทันที
ดังนั้น ในซีรีส์เรื่องนี้ จึงได้เสนอทางแก้ โดยให้บริษัทเลือก “Keyman” หรือ ตัวหลัก ขึ้นมา 1 คน โดยคนที่เป็น Keyman จะต้องเป็นบุคคลที่บริษัทขาดไม่ได้ และเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในบริษัท
ซึ่งหลังจากที่เลือก Keyman ได้แล้ว ก็ค่อยรวบรวมหุ้นส่วนใหญ่ไปไว้ที่คนนั้น อย่างน้อย 60% ถึง 90%
ดังนั้นในตอนหลัง ซัมซานเทค จึงได้ปรับสัดส่วนการถือหุ้น ดังนี้
Keyman คือ นัมโดซาน ถือหุ้น 64%
ซอดัลมี ถือหุ้น 7%
คิมยงซาน ถือหุ้น 7%
อีชอลซาน ถือหุ้น 7%
จองซาฮา ถือหุ้น 7%
พ่อของนัมโดซาน ถือหุ้น 7%
ญาติของนัมโดซาน ถือหุ้น 1%
เหตุผลที่ต้องรวบรวมหุ้นจำนวนมากขนาดนี้ไปไว้ที่คนๆ เดียว
ก็เพื่อป้องกันปัญหาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะมีคนเข้ามาลงทุน
เนื่องจากธุรกิจ Start-up จะมีสิ่งที่เรียกว่า “การเปิดรอบระดมทุน”
โดยจะมีตั้งแต่รอบ Pre-Series และ Series A, B, C และรอบต่อไปเรื่อยๆ
ซึ่งในแต่ละรอบ จำนวนเงินลงทุน และผู้ถือหุ้นหน้าใหม่ ก็อาจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น หาก Keyman ถือหุ้นในสัดส่วนที่ต่ำ หรือน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง
ก็อาจทำให้หลังจากการเปิดรอบระดมทุนไปแล้ว หุ้นส่วนใหญ่จะตกไปอยู่ในมือของนักลงทุนมากกว่า Keyman ได้
ซึ่งนี่อาจสร้างปัญหาตามมามากมาย
ทั้งการสูญเสียสิทธิ์ในการบริหาร และความเป็นเจ้าของบริษัท
หรือไม่แน่ว่า บรรดาผู้ถือหุ้นรายเล็กอาจร่วมมือกับนักลงทุนรายอื่น เพื่อทำการยึดบริษัท และปลด Keyman ออกจากตำแหน่งในการบริหาร ก็เป็นไปได้เช่นกัน
วิธีการแบ่งหุ้นแบบที่ในซีรีส์เรื่องนี้เสนอไว้นั้นใกล้เคียงกับวิธีการแบ่งหุ้นที่เรียกว่า Dynamic Equity Split หรือ DES
วิธีการแบ่งหุ้นแบบ DES ไม่แนะนำให้เราแบ่งหุ้นให้ทุกคนเท่าๆ กัน
แต่จะแนะนำให้แบ่งตาม “ผลงาน”
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนในการถือหุ้นอาจมีการเปลี่ยนได้ในอนาคต
โดยจะขึ้นอยู่กับทักษะและความสามารถในการทำงาน หรือ จำนวนผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการแบ่งหุ้น ก็คือ ความชัดเจน
ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใดๆ ก็ตาม การแบ่งหุ้นต้องระบุชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษร
เพื่อป้องกันความคลุมเครือ และความขัดแย้ง
Search