รู้จักเหรียญ Stablecoin เหรียญคงที่ ที่อาจไม่คงที่ /โดย ลงทุนแมน
แม้ว่าปัจจุบันคริปโทเคอร์เรนซีเริ่มถูกยอมรับ จากเหล่านักลงทุนและบริษัทเอกชน
แต่มีหลายคนกังวลว่าสกุลเงินเหล่านี้ยังคงไม่เหมาะสมสำหรับการใช้งานในชีวิตจริงมากนัก
สาเหตุสำคัญก็เพราะราคาของมันผันผวนรุนแรงเกินไป ถือว่าขาดคุณสมบัติการเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนที่ดี
ยกตัวอย่างเช่น บิตคอยน์ ต้นปีมีราคาที่ 8.8 แสนบาท แต่เคยขึ้นสูงสุดไปถึง 2.1 ล้านบาท
และลงมาต่ำสุดระหว่างปีที่ 9.5 แสนบาท
เห็นได้ว่า ขนาดคริปโทเคอร์เรนซีที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 ยังมีราคาผันผวนมากขนาดนี้
คริปโทเคอร์เรนซีอื่น ๆ ก็จะมีความผันผวนที่สูงไม่แพ้กัน
และด้วยสาเหตุหลักนี้เอง จึงทำให้ Stablecoin เกิดขึ้นมา ซึ่งคนที่สร้างเหรียญประเภทนี้ ต้องการให้มันเป็นเหรียญที่มีมูลค่าค่อนข้างคงที่ โดยส่วนใหญ่แล้วจะอิงกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เช่น USDT ที่คนสร้างอยากให้มีราคาเทียบเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐอยู่เสมอ
ด้วยราคาที่ไม่ค่อยผันผวน จึงเป็นที่นิยมสำหรับนักลงทุนสาย Conservative ใช้ในแพลตฟอร์ม DeFi หรือเรียกกันว่าการฟาร์ม นอกจากนั้น Stablecoin ยังถือเป็นคริปโทเคอร์เรนซีที่นิยมถือไว้เพื่อพักเงิน ในช่วงที่ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีกำลังปรับฐานหรืออยู่ในช่วงขาลง
แต่การถือ Stablecoin นั้นปลอดภัยมากขนาดไหน ?
แล้ว Stablecoin มีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
เปิดบัญชีผ่าน Radars Point ที่ > https://bit.ly/3EEOz9C
╚═══════════╝
เมื่อพูดถึง Stablecoin มือใหม่ส่วนใหญ่คงจะนึกถึงเพียงแค่ USDT และ USDC เท่านั้น
และอาจคิดว่าสกุลแต่ละเหรียญ ไม่มีความแตกต่างกัน เป็นเพียงแค่คริปโทเคอร์เรนซีที่อิงกับเงินดอลลาร์สหรัฐเพียงอย่างเดียว
แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว มีคริปโทเคอร์เรนซีอีกถึง 200 สกุล ที่เป็น Stablecoin เช่นเดียวกัน
และแต่ละสกุลยังมีประเภทและรายละเอียดที่แตกต่างกันด้วย
เริ่มจากสกุลเงินที่ทุกคนคุ้นเคยก่อนเลยคือ USDT
Stablecoin แบบนี้ ถูกเรียกว่า Fiat Backed Stablecoin
หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นคริปโทเคอร์เรนซีที่ผูกกับเงินตราประเทศต่าง ๆ แบบ 1:1
ตามหลักการ คริปโทเคอร์เรนซีประเภทนี้จะถูกผลิตขึ้น เมื่อเรานำเงิน Fiat อย่างเงินบาทหรือดอลลาร์สหรัฐ ไปล็อกกับตัวกลางที่ทำหน้าที่ผลิตคริปโทเคอร์เรนซีนั้น ๆ ออกมา
เช่น เรานำเงินดอลลาร์สหรัฐไปล็อกไว้กับบริษัท Tether เพื่อสร้าง USDT
หรือหากไปล็อกกับบริษัท Centre ก็จะได้เป็น USDC ออกมานั่นเอง
แม้ว่า Stablecoin นี้จะได้รับความนิยมมากสุด เมื่อเทียบกับประเภทอื่น ๆ
แต่มีข้อน่ากังวลอย่างหนึ่งคือ บริษัทที่สร้างเหรียญพวกนี้ขึ้นมา มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน
เพราะต้องไม่ลืมว่า หากบริษัทนำเงินที่ควรจะเก็บกลับไปใช้ทำอย่างอื่น เช่น ปล่อยกู้ต่อ หรือซื้อตราสารหนี้เอกชน นั่นก็ถือว่า Stablecoin ไม่ได้ผูกกับเงินตราประเทศต่าง ๆ แบบ 1:1 แล้ว
อย่าง USDT ที่ออกโดย Tether ก็มีความกังวลด้านความโปร่งใสเกี่ยวกับเงินที่นำมาสำรอง เพราะ
จากข้อมูลที่เปิดเผย ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2021 สินทรัพย์ที่หนุน USDT ประกอบไปด้วย
เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 84.9%
สินเชื่อแบบมีหลักประกัน 4.0%
หุ้นกู้, กองทุน และโลหะมีค่า 7.3%
การลงทุนอื่น ๆ 3.8%
จะเห็นได้ว่าสัดส่วน 15% นั้น ไม่ใช่เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ซึ่งก็อาจแปลได้ว่าบริษัทนำเงินที่หนุนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้นเพื่อหาผลตอบแทนเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามด้วยความที่ปัจจุบัน Stablecoin กลุ่มนี้ยังไม่เคยเจอปัญหาการขาดความเชื่อมั่นมาก่อน จึงยังสามารถครองใจนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดได้อยู่
แต่บางคนที่อ่านถึงตรงนี้ คงเอะใจว่า ทำไมคริปโทเคอร์เรนซีพวกนี้ยังอิงกับดอลลาร์สหรัฐอยู่เลย ทั้ง ๆ ที่ตอนแรกตัวเองบอกว่าสร้างคริปโทเคอร์เรนซีทั้งหลายขึ้นมา เพื่อไม่ต้องพึ่งเงิน Fiat ที่ควบคุมโดยรัฐบาล
นั่นจึงเป็นที่มาของ Stablecoin ประเภทที่สองคือ Crypto Backed Stablecoin
หรือ Stablecoin ที่ค้ำด้วยคริปโทเคอร์เรนซี
คือเดิมทีเราต้องนำเงิน Fiat ไปล็อก เพื่อให้ได้ Stablecoin ออกมา
แต่ด้วย Stablecoin ประเภทนี้สามารถทำได้ด้วยการเอาคริปโทเคอร์เรนซีทั่วไป เช่น BTC, ETH ไปวางค้ำประกัน เพื่อแลกเหรียญแทนได้เลย ไม่จำเป็นต้องพึ่งเงิน Fiat อีกต่อไป
เรียกได้ว่าเป็น Stablecoin ของโลกคริปโทเคอร์เรนซีอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตามด้วยความที่ราคาของคริปโทเคอร์เรนซีแต่ละสกุลนั้นมีความผันผวนค่อนข้างสูง
นั่นทำให้เกิดข้อเสียคือ การวางเงินค้ำประกันจำเป็นต้องใช้จำนวนเงินที่มีมูลค่าสูงกว่าเงินที่จะได้รับ
ตัวอย่างเช่น หากเราอยากได้ Dai ที่เป็น Stablecoin มูลค่ารวม 100 ดอลลาร์สหรัฐ จากโปรเจกต์ MakerDAO เราจะต้องนำคริปโทเคอร์เรนซีอื่น ๆ มาวางค้ำประกันที่ 150 ดอลลาร์สหรัฐ ไม่ใช่วางค้ำประกันที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากัน
ข้อเสียอีกอย่างที่ตามมา จากการใช้คริปโทเคอร์เรนซีวางค้ำประกัน คือ การโดนยึดเงินค้ำประกัน
หากมูลค่าเหรียญที่วางค้ำประกันนั้นต่ำกว่ามูลค่า Stablecoin ที่แลกมา หรือเกณฑ์ที่ระบบกำหนด
ซึ่งถ้าเราไม่อยากโดนยึดเงินค้ำประกัน จะต้องวางเงินค้ำประกันเพิ่มหรืออาจคืนเงินบางส่วนแทนก็ได้
จากข้อมูลนี้จะสังเกตได้ว่า Stablecoin ทุกเหรียญประเภทนี้ถูกค้ำด้วยคริปโทเคอร์เรนซีจริง ส่งผลให้มีความโปร่งใส แต่ก็ยังคงมีปัญหาเรื่องการวางเงินค้ำประกันที่สูงเกินไป
นั่นทำให้เกิด Stablecoin ประเภทสุดท้ายคือ Algorithmic Stablecoin
หรือ Stablecoin ที่ไม่ได้อิงมูลค่ากับสินทรัพย์ใด ๆ แต่จะควบคุมโดยอัลกอริทึม ด้วยการใช้กลไกเพิ่มและลดเหรียญตามความต้องการใช้งาน เพื่อให้ราคาคงที่
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ อย่าง UST เป็น Algorithmic Stablecoin ของ Terra Blockchain จะไม่ได้เกิดจากเงิน Fiat หรือคริปโทเคอร์เรนซีอื่น ๆ ค้ำประกัน แต่เกิดจากการนำ LUNA เหรียญที่ผันผวนเหมือนเหรียญทั่วไป มา Burn หรือทำลายลง เพื่อ Mint หรือผลิต UST ขึ้นมาแทน
ปกติแล้ว LUNA มีราคาเท่าไร UST ที่ผลิตได้ก็จะมีจำนวนเท่านั้น
เช่น หาก LUNA มีราคา 5 ดอลลาร์สหรัฐ จะสามารถผลิต UST ได้ที่ 5 เหรียญ
ซึ่งถ้า LUNA มีราคาเพิ่มขึ้นมาที่ 10 ดอลลาร์สหรัฐ จะสามารถผลิต UST ได้ที่ 10 เหรียญ
จากกลไกนี้ ทำให้ช่วยสร้างสมดุลราคาของ UST ให้ตรึงไว้ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐไว้ได้
เพราะว่าถ้า UST มีราคาเกินกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะมีคนมาทำอาร์บิทราจ ด้วยการ Burn เหรียญ LUNA ทิ้งเพื่อเอา UST มาเทขายในตลาด
ในทางกลับกันหาก UST ราคาต่ำกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ ก็จะมีคน Burn เหรียญ UST เพื่อเอา LUNA กลับคืนมา ซึ่งเป็นการลดจำนวนเหรียญ UST ลง ให้ราคาดีดกลับมาที่เดิม
แต่ Stablecoin กลุ่มนี้มักจะมีปัญหาด้านราคาผันผวน หากแพลตฟอร์มที่ปล่อยเหรียญมีระบบไม่แข็งแกร่งพอ และมีผู้ต้องการใช้งานเหรียญจำนวนมากพร้อม ๆ กัน
จึงเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ Stablecoin ไม่สามารถรักษาความเสถียรของมูลค่าได้ เช่น ราคา UST ก็เคยตกลงไปเหลือ 0.8 ดอลลาร์สหรัฐ จากช่วงที่ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีตกอย่างรุนแรง ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
หรือ IRON ที่เป็น Stablecoin ของ Iron Finance แพลตฟอร์ม DeFi เคยเจอเหตุการณ์จากราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเหลือเพียง 0.74 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้เห็นได้ว่า
การบริหารความเสี่ยงที่ดี คงไม่ใช่แค่การถือ Stablecoin เหรียญใดเหรียญหนึ่งเท่านั้น เพราะจะเห็นได้ว่า Stablecoin แต่ละสกุลจะมีจุดอ่อนที่แตกต่างกันไป
การกระจายการถือ Stablecoin ในหลายเหรียญ อาจเป็นทางเลือกที่สามารถลดความเสี่ยงจากการที่เหรียญใดเหรียญหนึ่งประสบปัญหาได้ เพราะเราต้องคิดไว้เสมอว่าเหรียญ Stablecoin ที่คนสร้างคาดหวังให้มันเป็นเหรียญคงที่ แต่ในช่วงเวลาพิเศษ มันก็อาจจะไม่คงที่ได้ เช่นกัน..
╔═══════════╗
เพียงเปิดและผูกบัญชีเทรดหุ้นผ่าน Radars Point และเทรดผ่าน StockRadars ได้ Point ถึง 2 ต่อ
👉🏻 ต่อที่ 1 รับทันที 88 Point! เมื่อเปิดบัญชีเทรดหุ้นผ่าน Radars Point โดยสามารถสมัครออนไลน์ได้ทันที
👉🏻 ต่อที่ 2 รับ Point คืน 7% จากค่าธรรมเนียม เมื่อเทรดผ่าน StockRadars หลังจากผูกบัญชีเรียบร้อยแล้ว
เปิดบัญชีผ่าน Radars Point ที่ > https://bit.ly/3EEOz9C
ผูกบัญชีได้ที่นี่ > https://bit.ly/3nWFJxU
ใครผูกบัญชีหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว สามารถร่วมสนุกรับต่อที่ 2 ดาวน์โหลด
แอปพลิเคชั่นเทรดผ่าน StockRadars ได้เลย! > https://bit.ly/39maZhx
ตั้งแต่วันนี้ - 31 ต.ค. 64
#RadarsPoint #StockRadars #ลงทุนง่ายๆไม่ต้องใช้เงิน #ทำเรื่องหุ้นเป็นเรื่องง่าย
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.coingecko.com/en/coins/iron
-https://coinmarketcap.com/currencies/terrausd/
-https://www.blockdit.com/posts/6086067564a1bf0c3559db1d
-https://cointelegraph.com/altcoins-for-beginners/stablecoins-101-what-are-crypto-stablecoins-and-how-do-they-work
-https://www.efinancethai.com/Fintech/FintechMain.aspx?release=y&name=ft_202104091432
-https://www.investopedia.com/terms/s/stablecoin.asp
-https://en.wikipedia.org/wiki/Dai_(cryptocurrency)
Search