หนังสือ Why do I Feel Like an Imposter? ของ ดร.แซนดี แมนน์ พูดถึงความรู้สึกของพ่อแม่ยุคนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยบอกว่าบรรดาแม่ๆ ทั้งหลายยกภารกิจ 'การเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบ' ให้เป็นสิ่งสำคัญของชีวิตอันดับต้นๆ
แต่มันไม่ง่าย
เพราะพ่อแม่ยุคนี้ถูกโถมทับด้วยข้อมูล เทคนิค วิธีการ ความรู้ และอุปกรณ์สารพัดสารพันเพื่อฟูมฟักให้เด็กคนหนึ่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เก่ง ดี ร่าเริง แข็งแรง และประสบความสำเร็จ
โจทย์ของพ่อแม่มีเยอะมาก ตั้งแต่ต้องรู้จักเลือกของเล่นกระตุ้นพัฒนาการให้ลูก มีสื่อกระตุ้นไอคิวอีคิว เลือกอาหารที่ถูกสุขอนามัย แสวงหาคลาสเรียนสุดพิเศษเพื่อยกศักยภาพลูก อ่านบทความเกี่ยวกับการจัดสถานที่สำหรับเด็ก จิตวิทยาเด็ก พัฒนาการเด็ก สมองเด็ก อาหารเด็ก ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่ง Imposter Syndrome ในหมู่พ่อๆ แม่ๆ คือความรู้สึกว่าฉันยังทำได้ไม่ดีพอ และไม่เคยดีพอ เพราะทุกอย่างดูเหมือนจะดีได้อีก และอุปกรณ์ คลาส ของเล่น อาหารก็มีไม่รู้จบ พ่อแม่บางคนเป็นกังวลอย่างมากว่าจะเลือกของเล่นได้ไม่ 'ถูกต้อง' สำหรับลูก
...
นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่เรียกว่า 'Mompetition' หรือการแข่งขันกันในหมู่แม่ (พ่อก็ด้วย) ที่เปรียบเทียบหรืออวดความสำเร็จหรือความเก่งของลูกกัน มีงานวิจัยระบุว่าพ่อแม่ยุคนี้แข่งกันมากกว่ายุคก่อนหน้าถึง 64% แน่นอนว่าสื่อโซเชียลย่อมมีผลต่อการเห็นผลงานลูกของกันและกัน ไหนจะกรุ๊ปไลน์ผู้ปกครองอีกเล่า
แต่ก่อนแค่เจอญาตวันเชงเม้งก็อวดกันหนักแล้ว แต่นั่นคือปีละหน (ตรุษจีนอีกหน) เดี๋ยวนี้โซเชียลมีเดียเปิดโอกาสให้เปรียบเทียบลูกกันทุกวัน พ่อแม่ก็กดดันมากขึ้นไปอีก จึงรู้สึก "ฉันยังเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดีพอ" ได้ง่ายขึ้นอีก
เวลาเห็นลูกคนอื่นทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ดี พ่อแม่ก็จะหันมามองลูกตัวเอง (และมองตัวเองไปพร้อมกัน) ทำไมลูกเขาอารมณ์ดีจัง ไม่งอแงเลย ลูกเขาวาดรูปสวย พูดอังกฤษเก่ง พูดจีนได้ เต้นบัลเล่ย์ เล่นเปียโน สีไวโอลิน เล่นกีต้าร์ ร้องเล่นเต้นระบำ ฯลฯ แล้วลูกเราล่ะ...
ก็เหมือนโลกของผู้ใหญ่นั่นแล, โลกในโซเชียลก็งดงามเสมอ
ความรู้สึก 'ไม่ดีพอ' ของพ่อแม่ สุดท้ายแล้วจะโถมทับใส่ลูกในวิธีต่างๆ ซึ่งมีโอกาสทำให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่เป็น Imposter Syndrome ด้วยเช่นกัน
...
มีคำแนะนำจาก ดร.แซนดี แมนน์ นักจิตวิทยา สำหรับพ่อแม่ที่มีความรู้สึกว่าตัวเองทำได้ไม่ดีพอ และเป็นทุกข์กับเรื่องนี้ว่า
1. จงยอมรับว่าการเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบเป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่จริง เชื่อสิว่า เพื่อนๆ ผู้ปกครองที่เห็นลูกเก่งๆ ก็มีมุมที่ทำได้ไม่ดีและมีปัญหากับลูกในแบบใดแบบหนึ่ง
2. อย่าตัดสินความสามารถในการเลี้ยงลูกของคุณด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ คุณไม่ต้องติ๊กถูกให้กับทุกช่องของเกณฑ์พ่อแม่คุณภาพตามที่สื่อต่างๆ พยายามมอบเช็คลิสต์ให้ก็ได้
3. จำเอาไว้ว่าความสำเร็จหรือล้มเหลวของลูกคุณไม่ได้เป็นสิ่งสะท้อนทักษะในการเลี้ยงลูกของคุณ เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกเยอะแยะ
4. (อันนี้โหด) อันเฟรนด์หรืออันฟอลโลว์เพื่อนที่ชอบโพสต์ภาพโอ้อวดลูกหรือความเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบไปซะ เพราะมันมีผลต่อจิตใจคุณ ซึ่งอาจส่งผลไปถึงวิธีกดดันลูก
5. โพสต์รูปที่ไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ใส่ฟิลเตอร์ของคุณ ครอบครัว และลูก กิจกรรมธรรมดาๆ ลงเฟซบุ๊กบ้าง ชีวิตมันไม่ต้องสวยงามทุกเม็ด จะได้ผ่อนคลายความคาดหวังจากภาพฝัน และไม่สร้างภาพเกินจริงให้คนอื่นคาดหวังกับคุณและลูกมากจนกดดันตัวเองและกดดันลูกด้วย (พ่อแม่ที่โพสต์ว่าลูกเรียนเก่งบ่อยๆ อาจกดดันลูกโดยไม่รู้ตัว ลูกจะไม่กล้าทดลองทำในสิ่งที่ไม่ถนัดและมี Fixed Mindset ได้)
6. อย่าพยายามเป็นเพื่อนกับลูก ดร.แซนดีแนะนำว่า คุณควรอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาให้ลูก ไม่ต้องให้เขารักเราตลอดเวลา บางที่ต้องตักเตือนกันขีดเส้นกัน ถ้าลูกจะไม่ถูกใจบ้างก็เป็นสิ่งจำเป็น การพยายามให้ลูกรักตลอดยิ่งสร้างความกดดันให้ตัวเอง
7. จำกัดว่าคุณจะฟังคำแนะนำเรื่องการเลี้ยงลูกจากใครบ้าง ไม่ต้องทำตามทุกตำรา เพราะคุณจะรู้สึกแย่กับตัวเองที่ทำได้ไม่ครบ ถามพ่อแม่ปู่ย่า ถามหมอในเรื่องจำเป็น ปรึกษากับครู อะไรประมาณนี้ก็อาจพอแล้ว ถ้าฟัง 'ผู้เชี่ยวชาญ' เยอะเกินไปอาจจะมึนและมีภารกิจล้นมือ
...
ผมหยิบหนังสือ Imposter Syndrome ทำมากแค่ไหนก็รู้สึกเก่งไม่พอ ของสนพ.HeartWork มาเล่าในรายการ Have a nice day! สามารถฟังกันเต็มๆ ได้ตามลิงก์นี้ครับ https://www.youtube.com/watch?v=C42GMJKtYTQ
ใครสนใจก็ลองซื้ออ่านกันได้แบบละเอียดๆ ในบทที่พูดถึงพ่อแม่อ่านแล้วก็เห็นใจและเห็นภาพ เลยนำมาเรียบเรียงสู่กันฟังเผื่อเป็นประโยชน์ครับ : )
#สนับสนุนรายการโดยซิกน่าประกันภัย
Search