ระบบศาล
ในแต่ละประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ต่างมีที่มาและอำนาจของฝ่ายตุลาการที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระบบกฎหมายที่ใช้กันอยู่ จารีตประเพณีทางการเมืองการปกครอง โครงสร้างทางสังคม ฯลฯ ของแต่ละประเทศ ดังนั้นในแต่ละประเทศจึงต้องมีการจัดแบ่งศาลให้มีความเหมาะสมกับประเทศของตน ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าในแต่ละประเทศการจัดแบ่งศาลย่อมแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่อย่างไรก็ดีต่างก็มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมหรือความเป็นธรรมในสังคม ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงระบบศาลในโลกนี้ในทางหลักกฎหมายจะกล่าวถึงระบบศาลคู่กับระบบศาลเดี่ยว ดังนี้
1.1 ระบบศาลคู่
ระบบศาล (Dual Court System) คือ ระบบที่ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคดีแพ่งและคดีอาญาเป็นหลักเท่านั้น ส่วนการพิจารณาวินิจฉัยคดีปกครองให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง ซึ่งมีระบบศาลชั้นต้นและศาลสูงสุดของตนเอง มีระบบผู้พิพากษาและองค์กรบริหารงานบุคคลเป็นเอกเทศต่างหากเป็นอิสระจากระบบศาลยุติธรรมโดยผู้พิพากษาศาลปกครองจะมีคุณสมบัติเฉพาะและมีความเชี่ยวชาญทางกฎหมายปกครองเป็นพิเศษ ระบบนี้ใช้อยู่ในประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) เช่น ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม อิตาลี เยอรมัน ออสเตรีย สวีเดน และฟินแลนด์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงประเทศที่ใช้ระบบ “ศาลคู่” แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มประเทศที่จัดตั้งศาลปกครองเป็นเอกเทศจากศาลยุติธรรม กลุ่มประเทศที่จัดตั้งศาลปกครองเป็นเอกเทศจากศาลยุติธรรมโดยมอบอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีปกครอง และกลุ่มประเทศที่จัดตั้งศาลปกครองเป็นเอกเทศจากศาลยุติธรรม โดยศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ 3 อย่าง
ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วประเทศที่ใช้ระบบศาลคู่ส่วนมักจะเป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายหรือเรียกว่า “ระบบกฎหมายซิวิลลอว์” (Civil Law System) บางประเทศ ระบบศาลจะจัดแบ่งเป็น “ระบบศาลคู่” ซึ่งระบบศาลที่อำนาจการพิจารณาคดีหรือเขตอำนาจศาลจะไม่ตกอยู่กับศาลเพียงศาลเดียว แต่จะถูกกระจายไปยังศาลที่ตั้งขึ้นมาให้สอดคล้องกับลักษณะของกฎหมายเป็นหลัก โดยส่วนมากก็จะแบ่งออกเป็นกฎหมายปกครอง กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆที่ไม่ใช่กฎหมายทั้งสองที่กล่าวมา ประเทศที่ใช้ระบบศาลคู่ มีข้อสังเกต ดังนี้
1. ระบบกฎหมายในประเทศนั้นจะมีการแบ่งเป็นเอกชนกับมหาชนค่อนข้างชัดเจน ในทางตรงกันข้ามประเทศที่ไม่มีการแยกกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน อย่างเช่น ประเทศอังกฤษ หรือแบ่งแยกไม่ชัดเจน อย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา จะไม่ใช้ระบบศาลคู่
2. ในประเทศที่ใช้ระบบศาลคู่จะมีลักษณะพิเศษอย่างน้อย 2 ประการ ดังนี้
1) จะมีศาลที่มีเขตอำนาจที่กำหนดขอบเขตไว้เป็นการเฉพาะและศาลที่กำหนดเขตอำนาจไว้เป็นการทั่วไป (พูดง่ายๆคือศาลที่มีเขตอำนาจเหนือข้อพิพาททุกอย่างที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลที่กำหนดอำนาจไว้เป็นการเฉพาะ) และ
2) จะมีองค์กรทำหน้าที่ชี้ขาดเขตอำนาจระหว่างศาล
เหตุผลหลัก ของข้อ 1) และ 2) ก็เพื่อความชัดเจนและความมั่นใจว่าข้อพิพาทจะต้องได้รับการชี้ขาดโดยศาลหนึ่งศาลใดอย่างแน่นอน ประเทศที่ใช้ระบบศาลคู่ เช่น ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมนี ประเทศเบลเยียม ประเทศอิตาลี ประเทศไทย เป็นต้น
1.2 ระบบศาลเดี่ยว
ระบบศาลเดี่ยว (Single Court System) คือ ระบบที่ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคดี ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครอง โดยให้ผู้พิพากษาซึ่งมีคุณสมบัติและความรู้ทางกฎหมาย “เป็นการทั่วไป” (Generalist) เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยคดีปกครอง ระบบนี้ใช้อยู่ในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ (Common Law) เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์แบบเดียวกับอังกฤษ เหตุผลของระบบศาลเดี่ยวอยู่ที่ว่า บุคคลมีความเสมอภาคกันตามกฎหมาย และต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของหลักกฎหมายเดียวและขึ้นศาลเดียวกัน ระบบนี้จึงไม่มีความแตกต่างระหว่างเอกชนกับฝ่ายปกครอง ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐ โดยถือว่าทั้งเอกชนและฝ่ายปกครองอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์อันเดียวกัน จึงต้องถูกพิจารณาพิพากษาโดยศาลยุติธรรม เป็นระบบหลักเพียงระบบเดียวที่มีถึงชั้นศาลฎีกาและอยู่ในสังกัดของฝ่ายตุลาการ ศาลปกครองจึงมิได้แยกออกเป็นเอกเทศ แต่ล้วนอยู่ในระบบศาลยุติธรรมโดยเป็นส่วนหนึ่งหรือแผกหนึ่งของศาลยุติธรรม ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง หรือคดีประเภทอื่น ผู้พิพากษาในคดีปกครองในระบบศาลเดี่ยวจึงมีคุณสมบัติและความรู้ในทางกฎหมายเป็นการทั่วไป ระบบศาลนี้ถือว่าศาลปกครองชั้นต้นเป็นศาลชำนาญพิเศษ มีอำนาจพิจารณาคดีปกครองเป็นการเฉพาะแยกต่างหากจากศาลชั้นต้นอื่น แต่มีศาลยุติธรรมสูงสุดหรือศาลฎีกาทำหน้าที่ควบคุมคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นและศาลล่างทุกศาล ตามระบบศาลเดี่ยวนี้ คู่ความฝ่ายใดที่ไม่พอใจคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นอาจอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลสูงเหมือนกับคู่ความในคดีอื่นๆ
Search