“งูเห่า” กับ “การเมืองไทย”
วันนี้สอนหนังสือวิชา กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง กลุ่ม กศบท. ศูนย์สุราษฎร์ธานี มีนักศึกษาถามว่า “งูเห่า” เกี่ยวกับการเมืองไทย ได้อย่างไร ผมก็ได้ค้นคว้าเพื่ออธิบายให้นักศึกษา ฟังว่ามีอยู่ 2 เหตการณ์ ดังนี้
เหตุการณ์แรก การเกิดขึ้นของ “กลุ่มงูเก่า”
กลุ่ม “งูเก่า” เป็นชื่อเรียก ส.ส. กลุ่มหนึ่งที่เคยสังกัดพรรคประชากรไทย มีที่มาจากคำเปรียบเปรยของ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ในขณะนั้น ที่เปรียบตัวเองเป็นเหมือนชาวนาที่ถูกงูเห่ากัดในนิทานอีสป
เหตุการณ์เกิดขึ้น หลังการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ปลายปี พ.ศ. 2540 และพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมีมติ จะสนับสนุนให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมตรีแทน ด้วยเสียงของพรรคความหวังใหม่ (ส.ส. 125 เสียง) พรรคชาติพัฒนา (52 เสียง) พรรคประชากรไทย (18 เสียง) และ พรรคมวลชน (2 เสียง) รวม 197 เสียง
ขณะที่พรรคฝ่ายค้านเดิม นำโดย พรรคประชาธิปัตย์ (123 เสียง) ต้องการสนับสนุน นายชวน หลีกภัย โดยร่วมกับ พรรคชาติไทย (39 เสียง) พรรคเอกภาพ (8 เสียง) พรรคพลังธรรม(1 เสียง) พรรคไท (1 เสียง) และพรรคร่วมรัฐบาลสมัย พล.อ.ชวลิต 2 พรรคได้แก่ พรรคกิจสังคม (20 เสียง) และ พรรคเสรีธรรม (4 คน) รวมได้ 196 เสียง ซึ่งน้อยกว่าฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิม อยู่เพียง 1 เสียง
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ จึงได้ชักชวน ส.ส.พรรคประชากรไทย กลุ่มของนายวัฒนา อัศวเหม จำนวน 13คนเข้ามาสนับสนุน รวมได้เป็น 209 สียง และทำให้ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิม เหลือเพียง 185 เสียง นายชวน หลีกภัย จึงได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย เนื่องจากนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย มีมติพรรค ไม่ให้กลุ่มของนายวัฒนาเข้าร่วมรัฐบาล หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้นายสมัครที่เดิมเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล กลับต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน โดยเหลือ ส.ส. ในสังกัดเพียง 4 คนไม่นับตัวเองคือ นายสุมิตร สุนทรเวช นางลลิตา ฤกษ์สำราญ นายห้างทอง ธรรมวัฒนะ และ นายสนิท กุลเจริญ
อย่างไรก็ดี หลังจากมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ซึ่งเป็น 1 ในสมาชิกที่สนับสนุนนายชวน ก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ทันที
หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ได้กล่าวเปรียบเทียบว่า ตนเองเป็นเหมือน ชาวนา ในนิทานอีสป เรื่อง "ชาวนากับงูเห่า" ที่เก็บงูเห่าที่กำลังจะตายจากความหนาวเย็น มาไว้ในอกเสื้อเพื่อให้ความอบอุ่น แต่ต่อมา งูเห่า นั้นก็ฉกชาวนาตาย ซึ่งนายสมัคร เปรียบเทียบงูเห่า กับแกนนำของ ส.ส. ทั้ง 12 คน โดยเฉพาะ ส.ส.กลุ่มปากน้ำ ของนายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งเดิมสังกัด พรรคชาติไทย แต่หลังจากมีความขัดแย้งกับ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค จึงไม่มีพรรรคสังกัด จนในที่สุดมาเข้าสังกัด พรรคประชากรไทย ที่นายสมัครเป็นหัวหน้าพรรค และต่อมาก็มีการกระทำ ที่ขัดต่อมติพรรคดังกล่าว ทำให้ต่อมา สื่อมวลชน เรียก ส.ส. 12 คนนี้ตามคำพูดของนายสมัครว่า "กลุ่มงูเห่า" อยู่เป็นเวลานาน
ต่อมาพรรคประชากรไทย ได้มีมติขับไล่สมาชิกกลุ่มนี้ออกจากพรรค ซึ่งจะส่งผลให้สิ้นสภาพ ส.ส.
กลุ่มงูเห่าได้ยื่นคำร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตัดสินว่า “การดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงตามมติพรรคหรือไม่ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัย ที่ 1/2542 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ว่า สมาชิกภาพของกลุ่มงูเห่าไม่ได้สิ้นสุดลง เนื่องจาก สส. มีความเป็นอิสระ ที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรค และมติขับไล่ ออกจากพรรคเป็นมติที่ไม่ชอบ ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ” ส่งผลให้ ส.ส.ทั้ง 12 คน ยังคงสถานภาพ และหาพรรคใหม่สังกัด
หลังพรรคประชาธิปัตย์ จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ แกนนำกลุ่ม ส.ส. ดังกล่าวได้รับตำแหน่ง รัฐมนตรี จากรัฐบาล นายชวน หลีกภัย 4 ตำแหน่ง คือ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ ได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวัฒนา อัศวเหม ได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประกอบ สังข์โต ได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม นายยิ่งพันธ์ มนะสิการได้ตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เหตุการณท์ที่ 2
กลุ่มงู่เห่าก็เกิดขึ้น สมัยที่มีการยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้กลุ่มการเมือง กลุ่มเนวิน ชิดชอบ ก็ย้ายจากกลุ่มพลังประชาชน มาสนับสนุนพรรคประขาธิปัตย์ เป็นเหตุให้อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
ปี 2551 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่สำคัญอีกปีหนึ่ง เป็นปีที่มีผู้ดำรงตำแหน่งและทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ถึง 5 คน จาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์, นายสมัคร สุนทรเวช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล (รักษาการ) และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เป็นอีกครั้งที่เกิดการตั้งรัฐบาลแบบชิงไหวชิงพริบ และเป็นครั้งที่ 2 ของการเกิดตำนานงูเห่าในการเมืองไทย ซึ่งบางคนขนานนามให้ว่าเป็น อนาคอนด้าการเมืองไทย ด้วยซ้ำเพราะเป็นการพลิกขั้วกลับข้างแบบขนานใหญ่
ย้อนกลับไปช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคพลังประชาชน จากคดีทุจริตเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้า ซึ่งมีผลให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี รวมทั้งนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปด้วย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล (พ่อของนายอนุทิน ชาญวีรกูล แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน) ซึ่งเป็นรองนายกฯ ในขณะนั้น ต้องทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี
จากการที่พรรคพลังประชาชนถูกยุบนี่เอง ได้มีการตั้งพรรคเพื่อไทยเพื่อรองรับสมาชิกที่ไม่ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่ปรากฏว่าสมาชิกบางส่วนไม่ได้ย้ายตามไปด้วย ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้เกิด 2 ขั้วที่พยายามวิ่งรวบรวมเสียงเพื่อชิงตำแหน่งนี้
พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นฝ่ายค้าน ได้ติดต่อ 4 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม คือ ชาติไทย เพื่อแผ่นดิน (บางส่วน) มัชฌิมาธิปไตย รวมใจไทยชาติพัฒนา รวมไปถึง ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินที่แตกออกมาจากพรรคพลังประชาชน เพื่อให้ได้เกิน 250 เสียง พร้อมจะชูนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี
ส่วนขั้ว เพื่อไทย ที่รวมกับพรรคเพื่อแผ่นดินและประชาราช ได้ 228 เสียง พยายามแก้เกมดึงเสียงกลับมา โดยเสนอให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เจ้าของมือเดินเกมคนสำคัญในตำนานงูเห่าการเมืองภาคแรกที่ตอนนั้นสังกัดพรรคชาติไทย เป็นนายกรัฐมนตรี แลกกลับการสลับขั้วกลับมาแต่ก็ไม่สำเร็จ
ต่อมาจึงพยายามเสนอให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อแผ่นดินขึ้นเป็นนายกฯ เพื่อดึงเสียงกลับ
ในที่สุดนายเสนาะ เทียนทอง แห่งพรรคประชาราช แก้เกมครั้งสุดท้าย ด้วยข้อเสนอเชิญพรรคร่วมรัฐบาลเดิมกลับมาจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติร่วมกัน แต่สายไปแล้ว เมื่ออีกขั้ว ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เป็นมือประสาน เดินเกมไปไกลถึงแถลงการทำงานร่วมกัน เมื่อ 9 ธ.ค. โดยมีภาพการกอดกันของนายเนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน กับนายอภิสิทธิ์ ระหว่างที่พรรคประชาธิปัตย์นำคณะเข้าพบเพื่อขอบคุณที่มาร่วมรัฐบาลกันโรงแรมสยามซิตี เป็นภาพจำจนถึงทุกวันนี้
ซึ่งเหตุการณ์ งูเห่าทั้ง 2 เหตการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ พรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง 2 เหตุการณ์ ในการสนับสนุน ให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
และผมคิดว่าน่าเกิดเหตุการณ์ “งูเห่า” เกิดขึ้นอีก แน่นอน หลังประกาศผลการเลือกตั้ง 9 พ.ค. 2562 เมื่อการจัดตั้งรัฐบาล “งูเห่า” ของพรรคประชาธิปัตย์ไปช่วยพรรคอื่นจัดตั้งรัฐบาล ก็เป็นไปได้ เว้นแต่ ว่าการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 เป็น “โมฆะ”
Search