บริษัทเทคโนโลยี กำลังเจอศึกรอบด้าน /โดย ลงทุนแมน
หลายปีที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นการดิสรัปต์ของบริษัทเทคโนโลยีรุ่นใหม่
ที่ได้ส่งผลกระทบรุนแรง จนบริษัทยักษ์ใหญ่ดั้งเดิมบางแห่งปรับตัวไม่ทัน
เช่น Netflix บริการดูหนังสตรีมมิง ที่เข้ามาทดแทนการเช่าแผ่นซีดีจากร้าน Blockbuster
หรือ Facebook เครือข่ายสังคมออนไลน์
ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งเม็ดเงินค่าโฆษณามหาศาล
และสามารถทำรายได้จากค่าโฆษณาระดับ 8 แสนล้านบาทต่อปี
ธุรกิจเหล่านี้ ทำให้หลายบริษัทในอุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์
ได้รับผลกระทบโดยตรง และหลายรายก็ต้องล้มหายตายจากไป
แม้ว่าเมื่อก่อน บริษัทเหล่านี้จะดิสรัปต์ธุรกิจเดิมจนก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน
แต่สถานการณ์ตอนนี้ ดูเหมือนกับว่าบริษัทที่กล่าวมาทั้งหมด
มีขนาดใหญ่จนหลายธุรกิจทับซ้อนกันและกำลังแข่งขันกันเอง
แล้วความท้าทายที่บริษัทเทคโนโลยีต้องเจอ มีอะไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ช่วงแรกสำหรับการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยี
ส่วนใหญ่จะเป็นการเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดภายในอุตสาหกรรมเดิม
ด้วยการหาสินค้าและบริการที่ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคในส่วนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
และด้วยความที่เป็นบริษัทเทคโนโลยี การขยายธุรกิจจึงทำได้อย่างรวดเร็ว
พอถึงจุดหนึ่ง พบว่าตัวเองได้กลายเป็นบริษัทขนาดยักษ์ในอุตสาหกรรมเสียแล้ว
สะท้อนมาจากบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุด 5 อันดับแรกของโลก
อันดับที่ 1 Apple
อันดับที่ 2 Microsoft
อันดับที่ 3 Saudi Aramco
อันดับที่ 4 Amazon
อันดับที่ 5 Alphabet เจ้าของ Google และ YouTube
จะเห็นได้ว่าจาก 4 ใน 5 บริษัทเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทั้งสิ้น
และหากเราไปดูอัตราการเติบโตของบริษัทเหล่านี้ ก็จะเรียกได้ว่าเติบโตแบบก้าวกระโดด
คำถามต่อมาคือ บริษัทควรจะทำอย่างไรต่อ
ในเมื่อธุรกิจเริ่มใหญ่ขึ้น แต่มีทรัพยากรให้ใช้อีกมากมาย
คำตอบที่ได้ จึงเป็นการข้ามไปแข่งขันในอุตสาหกรรมอื่น
โดยการใช้ Ecosystem ของตัวเองให้เป็นประโยชน์ นั่นจึงกลายเป็นที่มาว่า
ทำไมเหล่าบริษัทเทคโนโลยีหลังจากสำเร็จแล้ว ก็จะเริ่มเข้าไปแข่งขันกันเอง
เช่น Facebook ที่เริ่มต้นจากการเป็นแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์
ซึ่งเมื่อก่อนนั้นมีรายได้จากค่าโฆษณาที่เป็นรูปภาพและตัวอักษรเท่านั้น
แต่บริษัทเองเห็นว่าโฆษณาแบบเดิมใหญ่มากแล้ว
จึงต้องหาช่องทางรายได้เพิ่มเติม
และพบว่าโฆษณาวิดีโอสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกเยอะ
Facebook ขยับมาสู่การสร้าง Ecosystem ให้กับเหล่าผู้ผลิตคอนเทนต์วิดีโอ
โดยมีฐานผู้ใช้งานในมือหลายพันล้านบัญชีอยู่แล้ว
การที่ Facebook เข้ามาทำแบบนี้ ก็ถือเป็นการเข้ามาแย่งส่วนแบ่งและเป็นการแข่งขันกับ YouTube ทันที
และในช่วงไม่กี่ปีมานี้ Facebook ได้เพิ่มฟังก์ชันใหม่ขึ้นมาคือ Marketplace รวมถึง Dating
แสดงให้เห็นว่าทางบริษัทกำลังขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมอื่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ว่าทำไมสุดท้ายบริษัทเทคโนโลยีต่างต้องแข่งขันกัน
หรืออย่างบริษัท SEA เองที่เริ่มต้นจากการทำธุรกิจ Garena ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเกม
แต่ต่อมาก็ได้รุกเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ ด้วยแพลตฟอร์ม Shopee
และขณะนี้บริษัทก็เริ่มจริงจังกับธุรกิจการเงินอย่าง AirPay ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็น ShopeePay
Alibaba และ Tencent ในประเทศจีนก็ไม่ต่างกัน
แม้ว่าเริ่มแรกทั้งคู่จะทำธุรกิจไม่เหมือนกัน
Alibaba เริ่มจากการเป็นอีคอมเมิร์ซ
Tencent เน้นเกมออนไลน์และแอปพลิเคชัน WeChat
แต่ภายหลัง Alibaba และ Tencent กำลังเข้ามาแข่งธุรกิจในพื้นที่เดียวกันทั้งทางอ้อมและทางตรง
ในปี 2013 Alibaba มีส่วนแบ่งธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ 62%
แต่ปีที่แล้วกลับลดลงเหลือเพียง 51%
เหตุผลสำคัญก็เพราะว่าการเติบโตของ Pinduoduo และ JD.com
อีคอมเมิร์ซที่ได้รับเงินระดมทุนจาก Tencent กำลังเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะ Pinduoduo ที่สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
หากย้อนกลับไปในปี 2018 Pinduoduo มียอดขายคิดเป็นราว 4% ของ Alibaba เท่านั้น
แต่ในปีที่ผ่านมา ยอดขายของ Pinduoduo ขยับมาเป็น 10% ของ Alibaba เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ Alipay กับ WeChat Pay ของ Tencent
ก็ยังแข่งขันกันในธุรกิจกระเป๋าเงินดิจิทัลโดยตรง อีกด้วย
ซึ่งนอกจากการแข่งขันกันในเชิงธุรกิจแล้ว
กฎเกณฑ์ข้อบังคับระหว่างบริษัทก็เริ่มมีการควบคุมที่เพิ่มมากขึ้น
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันข้อมูลบัญชีผู้ใช้งาน
ในกรณีของ Apple ก็ได้ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ว่าจะทำการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลของตนจากแพลตฟอร์มโซเชียลอย่าง Facebook หรือไม่
จุดนี้จะทำให้ประสิทธิภาพของโฆษณาบน Facebook ลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกความท้าทายที่เห็นได้ชัดก็ยังมีเรื่องของ การกลับมาของบริษัทยักษ์ใหญ่เดิม
หลังจากที่เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ดั้งเดิม
โดนบริษัทเทคโนโลยีน้องใหม่เข้ามาดิสรัปต์เป็นเวลานาน
บางบริษัทที่สามารถปรับตัวและอยู่รอดได้
ก็เหมือนจะกำลังรุกกลับและปรับตัวให้เข้าแข่งขันได้อีกครั้ง
อย่าง Disney เองหลังจากปล่อยให้ Netflix
นำคอนเทนต์ของทางบริษัทไปให้บริการอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง
ปัจจุบัน Disney ก็ได้ลุกขึ้นมาพัฒนาธุรกิจสตรีมมิงเป็นของตัวเอง
จนกลายมาเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิงที่เรียกว่า “Disney+”
ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด จนตอนนี้มีผู้สมัครใช้บริการ 100 ล้านคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับจุดแข็งของบริษัทเก่าแก่ขนาดใหญ่ ก็คือ ความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนและฐานะทางการเงินที่มั่นคง
ในกรณีของ Disney ที่มีหนี้สินระยะยาวต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพียง 0.5 เท่า
ในขณะที่ Netflix มีหนี้ระยะยาวต่อทุนสูงถึง 1.4 เท่า
สะท้อนให้เห็นว่า Disney ยังมีความสามารถในการจัดหาเงินทุนเพื่อขยายกิจการได้อีกมากในอนาคต
นอกจากนี้ Disney ยังมี Ecosystem ที่ครบวงจรอีกด้วย
เช่น สวนสนุก โรงแรม สื่อต่าง ๆ อย่าง ABC ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ช่องฟรีทีวีใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ
รวมถึงลิขสิทธิ์ต่าง ๆ อีกมากมาย ทั้ง Marvel, Star Wars และ Pixar
และสิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจยิ่งแข็งแกร่งขึ้นไปอีก
จากตรงนี้ ก็ดูเหมือนว่าตอนนี้ Netflix อาจจะเจอกับการตีกลับครั้งใหญ่เข้าให้แล้ว
นอกจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์แล้ว
อุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่งก็เป็นเช่นเดียวกัน
ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เหล่าค้าปลีกแบบดั้งเดิม
อย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ Walmart สามารถเข้ามาตีตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้น
ถือเป็นเรื่องน่ากังวลที่เหล่าบริษัทเทคโนโลยีต้องรับมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ดั้งเดิม
ที่มีความได้เปรียบทั้งด้านฐานะการเงินของบริษัทและ Ecosystem เดิมของตน
ศึกรอบด้านของบริษัทเทคโนโลยียังไม่ได้หมดเพียงแค่นี้
เพราะ “กฎหมายของแต่ละประเทศ” ก็เป็นอีกประเด็นที่เริ่มถูกพูดถึงกันมากขึ้น
นั่นก็เพราะว่าบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งใหญ่จนเรียกได้ว่าผูกขาด
อุตสาหกรรมนั้นไปโดยปริยาย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลก
ก็เริ่มเข้ามาออกเกณฑ์การควบคุมเพื่อลดปัญหาดังกล่าว
เช่น สหภาพยุโรปกำลังตรวจสอบอำนาจการผูกขาดของเหล่าบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่
ประเทศออสเตรเลียเองก็เพิ่งออกกฎหมายบังคับให้บริษัทเทคโนโลยีต้องจ่ายเงิน
สำหรับการแชร์เนื้อหาข่าวสารต่าง ๆ
ทางฝั่งประเทศจีน รัฐบาลกำลังเข้ามาควบคุมการผูกขาดของบริษัทเทคขนาดใหญ่เช่นกัน
เช่น Alibaba ที่เพิ่งถูกรัฐบาลสั่งปรับเงินครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน
คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 8.8 หมื่นล้านบาท
จากการที่ Alibaba บังคับให้เหล่าร้านค้าในแพลตฟอร์มของตน ไม่สามารถไปขายกับแพลตฟอร์มอื่นได้
ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ก็ยังมีเรื่องของ Ant Group บริษัท Fintech ในเครือ Alibaba
ที่ถูกรัฐบาลสั่งระงับการ IPO จากการที่รัฐกลัวเสียอำนาจในการควบคุมธุรกิจการเงินในประเทศ
นอกจากนี้ บริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่กำลังโดนรัฐบาลไล่ตรวจสอบเรื่องการผูกขาด
ก็ยังมี Tencent, ByteDance, JD.com และอื่น ๆ อีกมากมาย รวมแล้วถึง 34 บริษัทเลยทีเดียว
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าบริษัทเทคโนโลยีในตอนนี้
นอกจากจะต้องแข่งขันกันเองแล้ว ก็ยังต้องมาเผชิญกับธุรกิจดั้งเดิม
ที่สามารถปรับตัวและกลับเข้ามาร่วมแข่งขัน
รวมถึงกฎเกณฑ์จากทางภาครัฐในแต่ละประเทศ เช่นกัน
ก็ดูเหมือนว่า เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใช่เพียงผลกระทบระยะสั้นเหมือนกับโรคระบาดที่มาแล้วก็ไป
แต่อาจจะกลายมาเป็นศึกรอบทิศทางของบริษัทเทคโนโลยี
ที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไร กว่าศึกนี้จะจบลง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://backlinko.com/disney-users
-https://www.economist.com/business/2021/02/27/the-new-rules-of-competition-in-the-technology-industry
-https://www.jitta.com/stock/nasdaq:pdd/factsheet
-https://www.jitta.com/stock/nyse:baba/factsheet
-https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-04-10/china-fines-alibaba-group-2-8-billion-in-monopoly-probe
-https://www.jitta.com/stock/nasdaq:nflx/financial
-https://www.jitta.com/stock/nyse:dis/financial
-https://www.economist.com/business/2021/05/20/how-to-thrive-in-the-shadow-of-giants
「marketplace มีอะไรบ้าง」的推薦目錄:
marketplace มีอะไรบ้าง 在 ลงทุนแมน Facebook 的精選貼文
สรุป แนวคิดอนาคตแพลตฟอร์มไทย จากคุณยอด CEO ของ LINE MAN Wongnai
เมื่อคืนที่ผ่านมา ลงทุนแมนมีโอกาสได้เข้าไปฟังเรื่องราวน่าสนใจใน Clubhouse
ในห้องที่มีการพูดคุยถึงประเด็น อนาคตของแพลตฟอร์มไทย “LINE MAN Wongnai”
โดยมี คุณยอด ชินสุภัคกุล CEO ของ LINE MAN Wongnai เป็นผู้ฉายภาพให้ผู้ฟังกว่า 1,000 คนได้ฟังกันแบบสด ๆ
เรื่องราวนี้จะมีความน่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
“หลังจากทำงานมากว่า 5 เดือน ผลลัพธ์ดีกว่าที่เราคิดไว้”
และวิกฤติโควิด 19 เป็นแรงกระตุ้นสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจ Food Delivery เติบโตอย่างก้าวกระโดด
นี่คือประโยคแรก ๆ ที่ คุณยอด CEO ของ LINE MAN Wongnai ได้เล่าขึ้นมา
เมื่อถามคุณยอดว่า ตั้งแต่เกิดการควบรวมกิจการระหว่าง Wongnai และ LINE MAN อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนไป ?
คุณยอดตอบว่า เมื่อ 2 องค์กรควบรวมกิจการเป็นหนึ่งเดียว สิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ถึงจะปรับจูนวัฒนธรรมของสององค์กรเข้าด้วยกันได้
เป้าหมายของเรากับทีมงานคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทีม
โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจในทีมงานไลน์แมนว่าเป็นอย่างไร คิดเห็นอย่างไร
และเราต้องแสดงให้เห็นว่า ตัวเรามีมาตรฐานในการตัดสินใจอย่างไร แสดงความเป็นตัวตน
แสดงให้เห็น “common enemy” คือมองว่า ศัตรูอยู่ข้างนอก ไม่ใช่ภายในองค์กร
เมื่อภายในองค์กรเกิดความเข้มแข็งแล้ว การรับมือกับความท้าทายภายนอก ก็ไม่ใช่เรื่องยาก..
ในตอนนี้ธุรกิจ Food Delivery ก็ได้เติบโตขึ้นมาก
ยอดออร์เดอร์ของ LINE MAN ในปี 2563 สูงขึ้นกว่า 5 เท่า จากปีก่อนหน้า
POS (Point of sale) หรือจุดชำระเงินหน้าร้าน โตขึ้น 3.5 - 4 เท่า
รวมทั้ง ยังสามารถขยายพื้นที่บริการจนครอบคลุม 36 จังหวัด จากเดิมมีเพียง 7 จังหวัด
เรียกได้ว่า LINE MAN Wongnai เป็นอีกหนึ่งผู้ได้รับผลประโยชน์จากโควิด 19
แต่.. ก็ต้องยอมรับว่าในฝั่ง media นั้นอยู่ในภาวะชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา
เมื่อถามว่า ในวันที่สนาม Delivey กำลังดุเดือด อะไรคือจุดแข็งที่ทำให้ลูกค้าเลือก LINE MAN Wongnai ?
คุณยอดบอกว่า เราให้ความสำคัญเรื่อง Choice (ทางเลือก) กับร้านอาหาร
มีให้เลือกทั้งแบบ GP หรือ Non-GP ก็ได้ ถ้าร้านอาหารมีกลุ่มลูกค้าอยู่แล้ว
ก็สามารถเลือกแบบ Non-GP ได้
สำหรับผู้บริโภค เรามีร้านค้ากว่า 300,000 ร้าน ตั้งแต่ถูกสุดไปจนถึงแพงสุด ให้เลือกทาน
รวมทั้งการมี “local mindset” หรือออกแบบบริการให้เหมาะกับคนในพื้นที่
ไม่ใช่แค่ระดับจังหวัด แต่จะลงไปให้ถึงระดับอำเภอ
อีกทั้งมีการใช้ Ecosystem ของ LINE ให้เป็นประโยชน์
เช่น Mini-app สั่งผ่านไลน์ได้เลย ซึ่งอยู่ในส่วนของ Wallet ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องโหลดแอปเพื่อมาสั่ง
ส่วน Restaurant solution (ระบบจัดการสำหรับร้านอาหาร) เราจะใช้ Point of sale หรือจุดชำระเงินหน้าร้านให้เป็นประโยชน์ในการดูแลร้านอาหาร เชื่อมต่อออนไลน์ ออฟไลน์ รองรับทุกการบริการให้ครบ จบในตัว
ส่วนในเรื่องของคู่แข่งและขนาดตลาด Food Delivery
ก็ยังมีโอกาสขยายตัวอีกเยอะ เพราะยังมีคนที่ยังไม่ได้ใช้งานอยู่อีกมาก
เปรียบเทียบง่าย ๆ ว่า ตอนนี้เราเดินอยู่ครึ่งทางของเกม
เพราะตลาด Food Delivery เริ่มจริงจังในปี 2018 ซึ่งก็ผ่านมาเพียง 4 ปี
ยังมีโอกาสที่ Food Delivery จะโตต่อไปได้
เมื่อถามว่า อะไรคือเป้าหมายสำคัญของ LINE MAN Wongnai ?
คุณยอดตอบว่า เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน ว่าเราทำสิ่งนี้ไป เพื่ออะไร
ซึ่งตรงนี้เรารู้ว่า เราทำไปเพื่อให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น ร้านอาหารค้าขายได้ คนขับรถมีรายได้
คนใช้งานได้มีช่องทางสะดวกในการสั่งอาหารทานได้
มากกว่านั้น คือเราต้องการจะเป็น “E-Commerce Platform for Services”
หมายถึงรองรับรูปแบบบริการหลากหลายในอนาคต ไม่ใช่แค่เรื่องอาหาร
แต่ยังรวมถึง การขนส่งคน, การขนส่งสิ่งของ, การให้บริการสปาที่บ้าน
สิ่งสำคัญคือ การสร้างทีมงานที่เป็นคนไทย เพื่อทำบริการให้คนไทยอย่างแท้จริง
รายได้หลักตอนนี้มาจากส่วนที่เป็นดิลิเวอรีเป็นส่วนใหญ่
และถือว่าบริษัทกำลังอยู่ในช่วงที่ดีมากขึ้น เรียกได้ว่าเข้าใกล้จุดคุ้มทุนมากขึ้น
เมื่อถามคุณยอดว่า แผนธุรกิจในปี 2564 นี้ และในอนาคต มีอะไรบ้าง ?
คุณยอดตอบว่า เราจะเปิดบริการดิลิเวอรี LINE MAN Wongnai ให้ครบ 77 จังหวัดทั่วไทย และจะเริ่มดำเนินกิจกรรมทางการตลาดมากขึ้น
เริ่มจากแคมเปญ “LINE MAN Food Hero” ซึ่งเป็นแคมเปญการตลาดครั้งใหญ่ที่สุด
ที่ LINE MAN Wongnai เคยทำมา
โดยไฮไลต์ของแคมเปญ ก็คือ “นายฮ้อย-ล่ามทรง” นักรีวิวอาหาร
ในฐานะ Eating Master ที่จะมาเป็น “Food Hero” หรือแบรนด์แอมบาสเดอร์คนแรกของ LINE MAN Wongnai ที่จะเป็นตัวแทนของคนธรรมดา ๆ เข้าถึงได้ง่ายในสายตาผู้บริโภค
ด้านแผนระยะยาวของ LINE MAN Wongnai
คือ “Help Thai People Live Better” หรือก็คือ ช่วยให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น
โดยอาศัยจุดเด่นเรื่อง Ecosystem เต็มที่ครบวงจร
ใช้จุดแข็งที่เป็นพาร์ตเนอร์ร่วมกันกับ LINE
เชื่อมต่อลูกค้า, คนทำงาน และธุรกิจท้องถิ่นเข้าด้วยกัน
แล้วเส้นชัยวันนี้ ของ LINE MAN Wongnai อาจไม่ใช่ ยูนิคอร์น อีกต่อไปแล้วหรือไม่ ?
คุณยอดยอมรับว่า วันนี้เราเข้าใกล้ ยูนิคอร์น มากขึ้นเรื่อย ๆ
แล้วเราไม่ค่อยเห็นคนที่เป็น ยูนิคอร์น ที่พูดถึงยูนิคอร์น กันสักเท่าไร
เพราะการจะเติบโตไปให้ไกลหรือยั่งยืน ไม่ได้มีแค่ประเด็นนี้เท่านั้น
5 เดือนที่แล้ว เราเป็นสตาร์ตอัป และมีเป้าหมายจะเป็นยูนิคอร์น
ผ่านมาวันนี้ เราโตขึ้น 5 เท่าตัว และยูนิคอร์น อาจไม่ใช่เป้าหมายของเราที่ต้องการอีกแล้ว
เพราะเราต้องการสร้างคุณค่าให้กับสังคม
มากกว่าแค่การสร้างตัวเลขที่จะเป็นยูนิคอร์น..
แรงผลักดันสำคัญในตอนนี้ คือทำยังไงให้คนขับรถมีรายได้มากขึ้น
คนขายอาหาร สามารถขายอาหารได้มากขึ้น
รวมทั้ง ผู้ใช้งาน ที่อยากจะกลับมาใช้งานซ้ำไปเรื่อย ๆ
ปัจจัยเชื่อมโยงเหล่านี้ คือแรงผลักดันสำคัญในวันนี้
ที่ทำให้เราอยากจะท้าทายความสำเร็จต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคตข้างหน้า
การจะไปให้ถึงเป้าหมายใหญ่ได้ ก็ต้องฝึกการมองไปให้ไกล
แต่แน่นอนว่า ก็ยังมีทีมงานบางส่วนที่ต้องวางเป้าหมายในระยะสั้น ๆ
เพราะการทำงานต้องถูกวัดด้วย KPI ตัวเลขต่าง ๆ อีกมากมาย
แต่ในฐานะ CEO ก็ต้องฝึกให้ทุกคนมองเป้าหมายระยะยาว
ควบคู่ไปกับการทำเป้าหมายระยะสั้นให้ได้ด้วยเหมือนกัน การทำธุรกิจถึงจะไปต่อได้อีกยาว
เมื่อถามคุณยอดว่า ความเป็นผู้นำจากวันแรกถึงวันนี้ มีอะไรที่เหมือนหรือต่างจากเดิม ?
คุณยอดให้คำตอบว่า บริษัทขนาดเล็ก ที่มีพนักงาน 10 - 30 คน เราจะเน้นไปที่เรื่องของ Hard-Skills
อย่างเช่น ทักษะเฉพาะในเรื่องของการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์
เมื่อถึงช่วงที่บริษัทมีขนาดกลาง ควรเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรมากขึ้น
โดยมองหาทีมงานที่มีความเหมาะสมกับองค์กร
และปัจจุบัน ในวันที่กลายเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีแถวหน้าของไทย
มีพนักงานกว่า 700 - 800 คน แน่นอนว่าหลักในการบริหารจัดการต้องเปลี่ยน
ต้องใช้คนอื่น ๆ มาทำงานแทนตัวเองมากขึ้น ต้องหาวิธีในการบริหารจัดการคนเก่ง ๆ
หรือหาวิธีที่จะดึงคนเก่ง ๆ ให้เข้ามาอยู่ในบริษัท
เพื่อให้เขาเข้าไปดูแลทีมงานในส่วนอื่น ๆ ได้อย่างใกล้ชิด
แต่ส่วนที่ยังคงเหมือนเดิมก็คือ
1. ความอึด (Grit)
ไม่ว่าบริษัทจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ เราที่เป็นผู้นำก็จะต้องทำงานให้หนักและต้องไม่ยอมแพ้
แต่ก็จะต้องหาจุดสมดุลให้ตัวเองได้พัก เพราะการพักมันจะทำให้เรากลับมามีแรงมากขึ้น
2. การบอกเล่าเป้าหมายของเรา (Storytelling)
เราต้องบอกทุกคนว่าสิ่งที่เราจะไปถึงคืออะไร ทั้งตอนที่อยู่ในช่วงกำลังจะจ้างพนักงานใหม่
ตอนบริหารจัดการทีม เราต้องบอกพวกเขาให้ชัดว่าเรากำลังจะไปในทิศทางไหน
ในอนาคต คุณยอด ก็ได้วางอีกหนึ่งเป้าหมาย คือ ต้องการทำให้พนักงานมีความมั่นคงมากขึ้น
เมื่อพนักงานมีความมั่นคงในชีวิต อัตราการลาออกก็จะน้อยลง บริษัทก็จะไปถึงเป้าหมายได้เร็ว
เมื่อถามคุณยอดว่า ถ้าอยากเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในแพลตฟอร์มของ LINE MAN Wongnai ต้องมีเทคนิคอะไร ?
คุณยอดให้คำแนะนำว่า
LINE MAN Wongnai ก็เป็นเหมือนกับ Marketplace
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้สินค้าของเราโดดเด่นในตลาด
จะต้องให้ความคุ้มค่า ทั้งคุณภาพสินค้าและราคา
และถ้าหากว่าเรามั่นใจในคุณภาพของสินค้าแล้ว
สามารถติดต่อทีมงานของ LINE MAN Wongnai ได้ทันที
ว่ากำลังจัดแคมเปญอะไรบ้าง หรือมีอะไรที่ Exclusive หรือพิเศษ ที่จะช่วยดึงลูกค้าเข้ามามากขึ้น
ซึ่งการที่ร้านค้าเข้าร่วมในทุก ๆ แคมเปญ
ก็จะเป็นการเปิดประตู ให้ลูกค้าที่ไม่เคยรู้จักแบรนด์มาก่อน
ได้เข้ามาทำความรู้จักแบรนด์
ในครั้งแรกลูกค้าอาจจะเข้ามาซื้อเพราะโปรโมชัน
แต่ถ้าเขารู้สึกว่าสินค้าของคุณคุ้มค่า มีคุณภาพ ครั้งต่อไปเขาก็จะมาซื้อกับคุณอีก
การเข้าร่วมแคมเปญต่าง ๆ จึงถือเป็นการลงทุนให้ได้ลูกค้าประจำในอนาคต
อนาคตของสตาร์ตอัป จะเป็นอย่างไร หลังจากจบโควิด 19
และในสนามดิลิเวอรี อะไรจะเป็นตัววัดผู้ชนะ ?
คุณยอดแชร์มุมมองว่า
ในวันนี้สตาร์ตอัปแข่งอยู่บนสนามระดับโลก ตั้งแต่วินาทีแรกที่ตั้งบริษัท
ดังนั้น มันยากมากที่จะแข่งขันสู้เจ้าอื่น ๆ ได้
นอกเสียจากว่าเราจะเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก ๆ
เพราะถ้าเป็นแพลตฟอร์มอย่าง Social Media ไม่มีจุดแข็งอื่น ๆ ก็จะแข่งขันกับเจ้าใหญ่ ๆ
ที่อยู่ในประเทศไทยมานานแล้วได้ยาก
และสำหรับในสนาม Food Delivery..
สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดผู้ชนะในมุมมองของคุณยอดก็คือ
คนที่สามารถทำให้ ผู้ใช้งาน (User), ร้านอาหาร-ร้านค้า, พาร์ตเนอร์ เช่น คนขับ
ได้ประโยชน์และได้รับความสะดวกมากที่สุด ไปพร้อม ๆ กัน
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าการทำธุรกิจ เราเดินไปถูกหรือผิดทาง ?
ในมุมมองของคุณยอด การทำสตาร์ตอัป เราต้องมีความเชื่อมั่น มีความดื้อรั้น
ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
เพราะถ้าไม่มีความเชื่อมั่น เราก็จะยอมแพ้ง่ายเกินไป
แต่ในความมั่นใจและความดื้อรั้นเหล่านี้
ต้องอยู่บนพื้นฐานของไอเดียที่ดี และการเล่าเรื่องให้เป็น
และวิธีที่จะดูว่าไอเดียเราเวิร์กหรือไม่นั้น
ให้ดูว่ามีเพื่อนหรือทีมงานเข้ามาร่วมทีมกับเรามากแค่ไหน
เพราะไอเดียที่ดี จะซื้อใจคนได้
และต้องดูตลาดด้วยว่าใหญ่เพียงพอหรือมีโอกาสเติบโตหรือไม่ ?
หากเรามีแต่ความอึด แต่ไปอยู่ในตลาดที่ผิด ก็ไม่เติบโต
สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องก็คือ การฝึกมองไปข้างหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้น
คุณยอดยอมรับว่า เราไม่สามารถคาดการณ์ทุกอย่างได้อย่างแม่นยำ
แต่เราต้องเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่หลากหลายให้ได้
เช่นเดียวกับ LINE MAN Wongnai ที่ต้องการทำให้ธุรกิจมีความหลากหลาย
และการร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับ LINE ทำให้ Wongnai ไม่ถูกจำกัดอยู่กับธุรกิจมีเดีย
แต่มีฟูดดิลิเวอรี มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว หรือแม้แต่สปาความงาม ที่แข็งแกร่งมากขึ้น
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันมากระทบกับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง เราก็จะรับมือกับสถานการณ์ได้ดี
สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำสตาร์ตอัป หรือคนทำธุรกิจ SMEs
เราทุกคนต้องมองอนาคต และการทำให้ธุรกิจมีความหลากหลาย เป็นเรื่องสำคัญ
และคุณยอดก็ได้ปิดท้ายจุดยืนของ LINE MAN Wongnai ไว้ว่า..
LINE MAN Wongnai จะเป็นแพลตฟอร์มสัญชาติไทย
ที่จะเข้ามาช่วยให้ชีวิตของคนไทยทุกคนดีขึ้น
ออกแบบนวัตกรรมเพื่อคนไทย พร้อมกับ Local Mindset
และเคารพทุกความคิดเห็นจากทั้งร้านอาหาร คนขับ และผู้ใช้งานทุกคน
เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มที่เข้าใจคนไทย และตอบโจทย์คนไทยได้มากที่สุด..