กรณีศึกษา KakaoBank ใช้เวลา 4 ปี ขึ้นมาเป็นธนาคารใหญ่สุด ในเกาหลีใต้ /โดย ลงทุนแมน
KakaoBank เป็นบริษัทของเกาหลีใต้ ที่เป็นธนาคารดิจิทัลโดยสมบูรณ์ ไม่มีหน้าสาขาเลย
KakaoBank เพิ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา
ปัจจุบันมีมูลค่าราว 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งใหญ่กว่า KB Financial Group บริษัทแม่ของ Kookmin Bank ธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมที่ใหญ่สุดในประเทศเกาหลีใต้เป็นเท่าตัว
จึงทำให้ KakaoBank ที่เพิ่งก่อตั้งมาเพียง 4 ปี กลายเป็นธนาคารที่มีมูลค่าบริษัทมากที่สุด
นอกจากนี้แอปพลิเคชัน KakaoBank ยังกลายมาเป็นแอปพลิเคชันธนาคารที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในเกาหลีใต้อีกด้วย
แล้ว KakaoBank เอาชนะธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม ในระยะเวลาเพียง 4 ปี ได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
โลกที่กำลังมุ่งสู่ออนไลน์ด้วยความรวดเร็ว ได้ทำให้ธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม
ต้องรีบปรับตัวมาให้บริการผ่านแพลตฟอร์มแบบดิจิทัล เพื่อไม่ให้ถูกดิสรัป
ซึ่งคู่แข่งคนสำคัญของธนาคาร ก็คือผู้ให้บริการ “ธนาคารดิจิทัล” ที่มีรูปแบบการให้บริการออนไลน์ทั้งหมด ไม่มีสาขาเลย เช่น Nubank จากประเทศบราซิล ที่มีบริษัท Berkshire Hathaway ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ให้ความสนใจและได้เข้าไปร่วมลงทุนเมื่อไม่นานมานี้
โดย Nubank เริ่มจากการให้บริการบัตรเครดิตดอกเบี้ยต่ำในปี 2013 ก่อนที่จะขยายบริการมาเป็นธนาคารดิจิทัลแบบสมบูรณ์ อย่างเช่น บริการเงินฝากและสินเชื่อ ในปี 2018
ปัจจุบัน Nubank คือธนาคารดิจิทัลที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกราว 40 ล้านบัญชี
ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือชาวบราซิล โดยคิดเป็น 18.8% ของประชากรบราซิล
และถ้าถามว่ารองจาก Nubank หรือธนาคารดิจิทัลที่มีผู้ใช้งานมากเป็นอันดับ 2 ของโลกคือใคร ?
คำตอบก็คือ ธนาคารดิจิทัลจากประเทศเกาหลีใต้ ที่ชื่อว่า “KakaoBank”
หลายคนอาจคุ้นชื่อ Kakao จาก KakaoTalk แอปพลิเคชันแช็ตที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในเกาหลีใต้ ซึ่งบริษัท Kakao ก็ได้ต่อยอดมาทำธุรกิจให้บริการธนาคารดิจิทัลด้วย
ในประเทศเกาหลีใต้ แม้จะเคยมีบริษัทที่ไม่ใช่ธนาคาร อยากลองทำธนาคารดิจิทัลมาตั้งแต่ปี 2001 แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีกฎหมายใด ๆ รองรับ
จนกระทั่งในปี 2015 รัฐบาลเกาหลีใต้ เพิ่งมีการประกาศว่าจะเริ่มออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการธนาคารดิจิทัลแล้ว ซึ่งก็ได้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างจริงในปี 2017 หรือเพียง 4 ปีก่อน ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
ในปี 2017 มีผู้ให้บริการธนาคารดิจิทัล 2 แห่ง ที่ขอใบอนุญาต นั่นก็คือ
K Bank ของบริษัท KT Corporation บริษัทเทเลคอมที่ใหญ่สุดในเกาหลีใต้
KakaoBank ของบริษัท Kakao ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันแช็ตอันดับ 1 ของเกาหลีใต้
การขอใบอนุญาตนี้ นับเป็นการจดทะเบียนธุรกิจธนาคารครั้งแรกในรอบ 25 ปี และเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของธนาคารเกาหลีใต้นับตั้งแต่ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่บางธนาคารควบรวมกิจการกันเพื่อความอยู่รอด
ซึ่งก็ทำให้ปัจจุบัน เกาหลีใต้มีธนาคารที่ใหญ่ที่สุด 4 แห่ง นั่นก็คือ Kookmin Bank, Shinhan Bank, Hana Bank และ Woori Bank ที่ยังเป็นผู้นำด้านการให้สินเชื่อ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่คนละ 20-30% และมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 8-9% ต่อปี
แต่ธนาคารดั้งเดิมเหล่านี้ กำลังเผชิญการแข่งขันที่ท้าทายจากธนาคารดิจิทัล โดยเฉพาะผู้นำอย่าง KakaoBank ที่ธุรกิจสินเชื่อมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 60-70% ต่อปี จนมีส่วนแบ่งการตลาดไล่ตามมาเป็น 14% ซึ่งถ้ายังเติบโตด้วยอัตรานี้ อีกไม่นาน KakaoBank จะกลายเป็นธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อได้มากที่สุดในประเทศ
ที่สำคัญก็คือ แม้ว่าธนาคารดั้งเดิมต่างก็มีแอปพลิเคชันของตัวเอง แต่แอปพลิเคชันธนาคารที่มีผู้ใช้งานมากสุด กลับกลายเป็น KakaoBank
ตั้งแต่ที่เปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2017 KakaoBank ก็มีผู้ใช้งาน 3 แสนบัญชีภายใน 24 ชั่วโมงและสามารถแตะระดับ 1 ล้านบัญชีได้ ภายในสัปดาห์แรก
จนถึงปัจจุบัน KakaoBank มีผู้ใช้งาน 16.7 ล้านบัญชี คิดเป็น 32.5% ของจำนวนประชากรเกาหลีใต้ มากกว่าแอปพลิเคชันของธนาคารดั้งเดิมที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดอย่าง Kookmin Bank ที่มีผู้ใช้งานราว 11 ล้านบัญชี ซึ่งน่าสนใจว่าผู้ใช้งานของ Kookmin Bank ลดลงจาก 15 ล้านบัญชีในปี 2019
และเมื่อเทียบกับ K Bank ธนาคารดิจิทัลของบริษัท KT Corporation ที่เปิดตัวเดือนเมษายน ปี 2017 หรือ 3 เดือนก่อนการเปิดตัวของ KakaoBank ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเพียง 6.3 ล้านบัญชี
ทั้ง ๆ ที่ K Bank ดูจะได้เปรียบกว่าเพราะมีฐานลูกค้าจากบริการเทเลคอมเกาหลีใต้กว่า 20 ล้านบัญชี แต่บริษัทก็ไม่สามารถดึงลูกค้าให้มาใช้บริการได้
ในขณะที่ KakaoBank มีฐานลูกค้าจากแอปพลิเคชันแช็ต KakaoTalk ราว 40 ล้านบัญชี สามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน KakaoBank ได้อย่างรวดเร็ว
แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ KakaoBank สามารถชนะในตลาดนี้ได้ ?
หนึ่งในเหตุผลหลัก ก็เป็นเพราะว่า KakaoBank มี KakaoPay ที่เป็นบริการชำระเงินเชื่อมกับแอปพลิเคชันแช็ต
ที่ได้เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2014 และได้รับความนิยมสูงมากอยู่แล้ว
อีกส่วนหนึ่งก็เพราะผู้ใช้งาน KakaoBank สามารถโอนเงินระหว่างบัญชี KakaoTalk ได้เลย
จึงทำให้การถ่ายโอนผู้ใช้งานทำได้ง่ายและเร็ว
นอกจากนี้ ก็ยังมีอีกปัจจัยที่ KakaoBank สามารถดึงดูดผู้ใช้งานได้ก็คือ อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม
เพราะธนาคารดิจิทัลได้เปรียบธนาคารแบบดั้งเดิมในเรื่องต้นทุนที่ต่ำกว่าจากการที่ไม่มีต้นทุนในการจัดการหน้าสาขา ทำให้ไม่ต้องจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก
ความได้เปรียบในเรื่องต้นทุน จึงทำให้ธนาคารดิจิทัลอย่าง KakaoBank คิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำกว่าและให้ดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าธนาคารแบบดั้งเดิมได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงยังให้บริการด้านอื่น ๆ แบบไม่คิดค่าธรรมเนียม ได้มากกว่าธนาคารแบบดั้งเดิม
ยกตัวอย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อไมโครของธนาคารดั้งเดิมจะอยู่ที่ 6-19%
แต่ KakaoBank คิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อไมโครเพียง 3% ถูกกว่าธนาคารดั้งเดิมมากกว่าครึ่ง
นอกจากความได้เปรียบโดยทั่วไปของธนาคารดิจิทัลแล้ว KakaoBank ยังสร้างจุดแข็งที่เหนือกว่าทุกแอปพลิเคชันธนาคารในประเทศ ด้วยการใส่ใจประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าเป็นหลัก
แอปพลิเคชันของธนาคารดั้งเดิมมีจุดอ่อนอยู่หลายด้าน อย่างเช่น การสร้างแอปพลิเคชันแยกหลายอัน สำหรับบริการที่ต่างกัน ทำให้ผู้ใช้งานสับสน รวมไปถึงระบบที่ไม่เสถียร การออกแบบหน้าแอปพลิเคชันใช้งานยาก ขั้นตอนการทำธุรกรรมยังคงซับซ้อนไม่ต่างจากการทำธุรกรรมที่หน้าสาขา
KakaoBank เลยออกแบบหน้าแอปพลิเคชันให้สวยงามและใช้งานง่าย ที่สำคัญคือลดความซับซ้อนและลดเวลาของแต่ละธุรกรรมลง
ยกตัวอย่างเช่น การประเมินความเสี่ยงลูกค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-KYC ที่มีมาก่อนแล้ว แต่แอปพลิเคชันของธนาคารดั้งเดิมใช้เวลาอนุมัติราว 30 นาที ขณะที่ KakaoBank ออกแบบให้ใช้เวลาอนุมัติแค่ 7 นาที ภายใต้มาตรฐานการประเมินความเสี่ยงแบบเดียวกัน
นอกจากเรื่องการใช้งานที่สะดวกแล้ว KakaoBank ยังประสบความสำเร็จจากการใช้ฐานข้อมูลลูกค้า มาออกแบบบริการใหม่ ๆ ได้ถูกใจผู้ใช้งาน
ยกตัวอย่างเช่น “บัญชีออมเงิน 26 สัปดาห์” ที่ให้ผู้ใช้งานเปิดบัญชีออมทรัพย์เพื่อออมเงินรายสัปดาห์ โดยสามารถตั้งจำนวนเงินออมแต่ละสัปดาห์ได้เอง สามารถเพิ่มลด ช่วงเวลาออมเงินได้เอง รวมถึงสามารถแชร์สถานะการออมลงโซเชียลมีเดียได้ด้วย
บริการนี้ก็เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ใช้งานรู้สึกได้ท้าทายตัวเอง โดยภายในเดือนแรกที่เปิดตัว มีผู้ใช้งานกว่า 3 แสนบัญชี ผ่านไป 4 ปี มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 8 ล้านบัญชีในปัจจุบัน
อีกบริการที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2020 ก็คือ “Mini” บริการสำหรับผู้ใช้งานที่มีอายุระหว่าง 14-18 ปี ที่ยังไม่มีบัญชีออมทรัพย์หรือบัตรเครดิต ให้สามารถซื้อก่อนจ่ายทีหลังได้ โอนเงินได้แม้ไม่มีบัญชีธนาคาร รวมถึงยังออกบัตร Minicard สำหรับให้ใช้จ่ายแบบออฟไลน์ได้ด้วย
บริการ Mini ก็ประสบความสำเร็จอีกเช่นเคย เพราะมีผู้ใช้งานทะลุ 5 หมื่นบัญชีในวันเดียว และทะลุ 5 แสนบัญชีใน 1 เดือน
และนอกจากจะเพิ่มประเภทสินเชื่อและบริการให้ผู้ใช้งานที่เปิดบัญชีกับ KakaoBank เองแล้ว
KakaoBank ยังพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเอง เพื่อรองรับผู้ใช้บริการจากสถาบันการเงินเจ้าอื่นด้วย
ยกตัวอย่างเช่น บริการเปิดบัตรเครดิตของผู้ให้บริการอื่น เช่น Shinhan Card และ Samsung Card
โดยมี KakaoBank เป็นผู้จัดจำหน่ายและใช้กลยุทธ์การดึงดูดลูกค้าด้วยลายบัตรที่เป็นแครักเตอร์จากสติกเกอร์ของ KakaoTalk เอง เช่น Ryan ซึ่งได้รับความนิยมสูงมากอยู่แล้ว คล้ายกับ Moon ของแอปพลิเคชันแช็ต LINE
KakaoBank ยังให้บริการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำ ให้บริการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินอื่น ๆ และล่าสุดก็ได้พัฒนาหน้าแอปพลิเคชันให้แสดงทุกบัญชี จากทุกสถาบันการเงินทั้งหมดที่ลูกค้ามี
ผลจากการตีแตกความต้องการของลูกค้า ก็สะท้อนมาที่ผลการจัดอันดับของ RFi ที่ให้ KakaoBank เป็นแอปพลิเคชันที่ได้คะแนนความพึงพอใจจากผู้ใช้งานมากที่สุดในเกาหลีใต้ 2 ปีซ้อน
ที่น่าสนใจก็คือ ความพึงพอใจของผู้ใช้งาน KakaoBank ในช่วงอายุ 40-50 ปี สูงกว่ากลุ่มที่อายุน้อยกว่า ซึ่งข้อมูลนี้ก็สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าที่ KakaoBank เลือกโฟกัสกลุ่มผู้ใช้งานในเมืองที่มีอายุ 30-50 ปีมาตั้งแต่แรก สวนทางกับบริษัทฟินเทคส่วนใหญ่ที่จะโฟกัสกลุ่มผู้ใช้งานช่วงอายุ 20-30 ปี
เพราะ KakaoBank มองว่าผู้ใช้งานกลุ่มนี้ มีความเข้าใจในบริการทางการเงินมากกว่า และมีรายได้โดยเฉลี่ยสูงกว่า ทำให้โอกาสไม่จ่ายคืนหนี้มีน้อยกว่า เช่นกัน
ซึ่งก็ดูเหมือนว่า KakaoBank คิดถูก เพราะ KakaoBank มีสินเชื่อที่ลูกหนี้ไม่ยอมจ่ายนานกว่า 3 เดือนติดต่อกัน หรือ NPL อยู่ที่ 0.18% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารในเกาหลีใต้ที่ 0.55%
ในด้านการทำกำไร แม้ KakaoBank จะเก็บดอกเบี้ยสินเชื่อต่ำและจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากสูง ทำให้รายได้สุทธิจากดอกเบี้ยน้อยลง
แต่จากการควบคุมต้นทุนได้ดี เลยทำให้ความสามารถในการทำกำไรจากดอกเบี้ยหรือ NIM อยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของธนาคารในเกาหลีใต้
ผลจากความสามารถในการทำกำไรที่ไม่แพ้ธนาคารดั้งเดิมและจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เลยทำให้ KakaoBank สามารถทำกำไรได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2019 หรือเพียง 18 เดือนหลังจากเริ่มให้บริการเท่านั้น เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าอย่างน้อยต้องใช้เวลา 3-5 ปี
ซึ่งความเร็วในการทำกำไรนี้ก็ถือว่าผิดปกติไปจากบริษัทฟินเทคโดยส่วนใหญ่ ที่จะยอมขาดทุนมหาศาล เพื่อทุ่มเงินลงทุนเร่งขยายฐานลูกค้าและพัฒนาเทคโนโลยีก่อน อย่าง Nubank เองก็ยังขาดทุนอยู่ หรือ K Bank จากบริษัท KT Corporation ก็เพิ่งทำกำไรได้เป็นครั้งแรกในไตรมาส 2 ปี 2021 ที่ผ่านมา
ขณะที่ KakaoBank ก็ยังเน้นลงทุนเพื่อขยายฐานลูกค้าและพัฒนาบริการเช่นกัน แต่กำไรยังเติบโตเป็นเท่าตัวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างล่าสุด กำไรจากการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ก็เติบโต 200% โดยยังคงมีรายได้หลักกว่า 70% มาจากดอกเบี้ย
สิ่งที่ต้องจับตามองต่อจากนี้ นอกจากพัฒนาการของ KakaoBank เอง ก็คือคู่แข่งคนสำคัญอย่าง Toss สตาร์ตอัปยูนิคอร์นด้านฟินเทคแรกของเกาหลีใต้ ที่เริ่มเปิดตัวแอปพลิเคชันโอนเงินบนสมาร์ตโฟนเมื่อปี 2015
โดย Toss Bank เพิ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการธนาคารดิจิทัลรายที่ 3 ของเกาหลีใต้ ในเดือนกันยายนนี้ แต่จะโฟกัสลูกค้าต่างไปจาก KakaoBank อย่างเช่น ผู้ใช้งานที่อายุน้อยกว่าและเน้นสินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้มีคะแนนเครดิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
และแม้ว่าผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Toss อย่างเช่น บริการชำระเงินและบัญชีซื้อขายหุ้น จะมีฐานลูกค้ารวม 20 ล้านบัญชี แต่เมื่อเทียบกับผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของอาณาจักร Kakao ที่มีเกือบ 50 ล้านบัญชี หรือเกือบทั้งหมดของประชากรเกาหลีใต้ 51.7 ล้านคน ก็นับว่ายังเป็นเรื่องยากสำหรับ Toss ที่จะชิงฐานลูกค้าไปจาก KakaoBank
และด้วยเรื่องราวทั้งหมดนี้
นั่นจึงทำให้ในเวลาเพียง 4 ปี KakaoBank ได้กลายมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากถึง 1.1 ล้านล้านบาท ใหญ่เป็นอันดับ 10 ในเกาหลีใต้ และได้ขึ้นแท่นเป็นบริษัทธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ ไปแล้วเรียบร้อย..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - ลงทุนแมน
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://asia.nikkei.com/Business/Finance/South-Korea-digital-lenders-challenge-nation-s-traditional-giants
-https://openknowledge.worldbank.org/bitstream/handle/10986/34701/Digital-Banks-Lessons-from-Korea.pdf?sequence=1&isAllowed=y
-https://uniteconomics.substack.com/p/kakao-bank-worlds-most-profitable
-https://www.theedgemarkets.com/article/cover-story-south-korea-experience-how-kakao-bank-forced-traditional-banks-buck
-https://asianbankingandfinance.net/financial-technology/exclusive/how-kakaobank-successfully-cracked-profitability-code-two-years-after
-https://www.koreatimes.co.kr/www/biz/2019/05/126_269111.html
-http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20190618000501
-http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20210712000783
-http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20210817000968
-http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20210805000838
-https://www.kedglobal.com/newsView/ked202106110008
同時也有10000部Youtube影片,追蹤數超過2,910的網紅コバにゃんチャンネル,也在其Youtube影片中提到,...
shinhan financial group 在 ลงทุนแมน Facebook 的精選貼文
เกาหลีใต้ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ในประเทศเวียดนาม /โดย ลงทุนแมน
เศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องไปในอนาคต
นั่นจึงทำให้บริษัทและนักลงทุนจากต่างชาติ ต่างก็สนใจเข้าไปลงทุนในประเทศแห่งนี้
โดยเฉพาะการลงทุนสร้างโรงงาน เพื่อให้เวียดนามกลายเป็นฐานการผลิตหลัก อย่างเช่น รองเท้าของ Nike และสมาร์ตโฟนของ Samsung รวมถึงอีกหลายบริษัทที่กำลังย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนาม เช่น Apple และ Foxconn
แต่รู้หรือไม่ว่าประเทศเวียดนามที่เนื้อหอมในสายตาโลก ผู้ที่ทุ่มเงินลงทุนในประเทศแห่งนี้มากที่สุด คือประเทศ “เกาหลีใต้”
แล้วเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในเวียดนาม อย่างไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เงินลงทุนจากต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนโดยตรงในประเทศเวียดนามแบบสะสม (FDI Stock) จนถึงปี ค.ศ. 2019 มีสัดส่วนมากที่สุด 5 อันดับแรก ก็คือ
อันดับ 1 เกาหลีใต้ 18.7%
อันดับ 2 ญี่ปุ่น 16.3%
อันดับ 3 สิงคโปร์ 13.7%
อันดับ 4 ไต้หวัน 8.9%
อันดับ 5 สหภาพยุโรป 7.0%
สำหรับประเทศจีนอยู่ในอันดับ 8 มีสัดส่วน 4.5% ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับ 10 มีสัดส่วน 3.0%
โดยเกาหลีใต้ คือประเทศที่ลงทุนโดยตรงในประเทศเวียดนามมากที่สุด โดยความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศนี้ เริ่มแน่นแฟ้นมากขึ้น จากจุดเปลี่ยนที่สำคัญในอดีต 2 ครั้ง
ปี ค.ศ. 2007 ประเทศเวียดนาม เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกหรือ WTO
ปี ค.ศ. 2015 ประเทศเวียดนามและเกาหลีใต้ ทำข้อตกลงการค้าเสรีหรือ FTA ที่ส่งผลให้ เกาหลีใต้ลดภาษีนำเข้าจากเวียดนามลง 95% และเวียดนามลดภาษีนำเข้าจากเกาหลีใต้ลง 89%
นอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว เรื่องโครงสร้างแรงงานในประเทศเวียดนาม ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยเติมเต็มสิ่งที่บริษัทเกาหลีใต้ต้องการ
ทั้งเรื่องอายุของคนวัยทำงาน ที่โดยเฉลี่ยอยู่ในช่วงอายุ 30 ปี ต่างจากหลายประเทศ โดยเฉพาะในเกาหลีใต้เอง ที่คนวัยทำงานโดยเฉลี่ยอยู่ในช่วงอายุ 40 ปี
รวมถึงปัจจัยด้านค่าจ้างโดยเฉลี่ย ที่นอกจากค่าจ้างแรงงานในเวียดนามจะคิดเป็นเพียง 1 ใน 8 ของค่าจ้างในเกาหลีใต้แล้ว งานที่ใช้ทักษะสูงขึ้นก็มีค่าจ้างที่ต่ำกว่าอย่างมีนัย เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น ตำแหน่งวิศวกร ที่ค่าจ้างในเวียดนามคิดเป็น 1 ใน 5 ของค่าจ้างในเกาหลีใต้
หรือแม้แต่ตำแหน่งผู้จัดการ ที่ค่าจ้างในเวียดนามคิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าจ้างในเกาหลีใต้
อีกปัจจัยสำคัญก็คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เพราะประเทศที่เกาหลีใต้ส่งออกไปมากที่สุดตามลำดับก็คือ จีน สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม
แต่เมื่อจีนและสหรัฐอเมริกากีดกันทางการค้ากันมากขึ้น จึงช่วยเร่งให้เกาหลีใต้ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากจีนมาที่เวียดนามเร็วขึ้น
แล้วเกาหลีใต้ เข้ามาลงทุนอะไรในเวียดนามบ้าง ?
หลัก ๆ แล้ว กว่า 70% ของการเข้ามาลงทุนในเวียดนามทั้งหมด บริษัทเกาหลีใต้จะเข้ามาสร้าง “โรงงานผลิต” เพื่อหวังเป็นฐานการผลิตหลัก และผู้ลงทุนที่ทรงพลังมากที่สุดก็คือ Samsung
Samsung เริ่มเข้าไปสร้างโรงงานที่เวียดนามในปี ค.ศ. 2008 และเริ่มผลิตโทรศัพท์มือถือเพื่อส่งออกในปีถัดมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ Samsung มีโรงงานผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบัน Samsung มีโรงงานในเวียดนามสำหรับผลิตสมาร์ตโฟน 2 แห่งและโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 1 แห่ง
โดยสมาร์ตโฟน Samsung ที่ส่งออกทั่วโลกมากกว่าครึ่งหนึ่ง ผลิตที่เวียดนาม โดยสินค้าจาก Samsung คิดเป็น 1 ใน 5 ของการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม ซึ่งก็เรียกได้ว่าประเทศเวียดนามถือเป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัทไปแล้ว นั่นเอง
นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลเวียดนามพยายามทำมาสักพักแล้วก็คือ โน้มน้าวให้ Samsung มาตั้งโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ผลิตชิปในประเทศด้วย
เมื่อบริษัทที่ใหญ่สุดในเกาหลีใต้อย่าง Samsung เลือกประเทศเวียดนาม จึงทำให้บริษัทอื่นก็ขยับตาม
เริ่มจากคู่แข่งอย่าง LG ที่เริ่มสร้างโรงงานผลิตที่เวียดนามในปี ค.ศ. 2014 ก่อนที่จะสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ตามมา เพื่อเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและชิ้นส่วนรถยนต์ ที่เป็นจอแสดงผลและระบบสร้างความบันเทิง
แต่นอกจากประเทศเวียดนามจะได้เปรียบในเรื่องค่าแรงที่ถูกกว่าเกาหลีใต้แล้ว บุคลากรในตลาดแรงงานของเวียดนามยังมีระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยที่สูงกว่าประเทศอาเซียนอื่นที่มีระดับค่าจ้างพอ ๆ กัน อย่างเช่น ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว
นั่นจึงทำให้บริษัทจากเกาหลีใต้ ไม่เพียงสร้างโรงงานการผลิตเท่านั้น แต่ยังลงทุนสร้าง “ศูนย์วิจัยและพัฒนา” หรือ R&D Center ที่ประเทศเวียดนามด้วย
อย่าง Samsung ได้ลงทุนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาที่เมืองฮานอย ซึ่งตั้งใจว่าจะเป็นหนึ่งในศูนย์หลักของ Samsung ที่ใช้วิจัยและพัฒนาสมาร์ตโฟน รวมถึงนวัตกรรมด้านอื่น โดยคาดว่าจะเปิดในปี ค.ศ. 2022 และจะจ้างวิศวกรท้องถิ่นราว 3,000 คน
ด้าน LG ก็มีศูนย์วิจัยและพัฒนาที่ฮานอยแล้ว และกำลังสร้างอีกศูนย์เพิ่มที่เมืองดานัง โดยเน้นวิจัยด้านชิ้นส่วนรถยนต์เป็นหลัก
ศูนย์วิจัยและพัฒนาเหล่านี้ ทำให้ประเทศเวียดนามไม่ได้เป็นเพียงแค่ฐานการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น แต่จะทำให้ประเทศเวียดนามมีโอกาสสูงที่จะได้เรียนรู้และถูกถ่ายโอนเทคโนโลยีมาด้วย
และนอกจากการลงทุนไปกับการสร้างโรงงานผลิตหรือศูนย์วิจัยแล้ว บริษัทเกาหลีใต้ยังสนใจลงทุนในเวียดนามผ่านการเป็น “ผู้ถือหุ้น” ในกิจการท้องถิ่นด้วย
อย่างเมื่อปี ค.ศ. 2019 บริษัท Samsung SDS ได้เข้าไปถือหุ้น 30% ในบริษัท CMC ซึ่งเป็นบริษัท IT ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเวียดนาม
แต่บริษัทที่ทุ่มเงินลงทุนในบริษัทเวียดนามมากที่สุดก็คือ SK กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้
ที่เป็นรองแค่ Samsung และ Hyundai ยกตัวอย่างเช่น
ปี ค.ศ. 2018 SK เข้าไปถือหุ้น 9.5% ใน Masan Group กลุ่มบริษัทด้านอาหารขนาดใหญ่
ปี ค.ศ. 2019 SK เข้าไปถือหุ้น 6.1% ใน Vingroup กลุ่มบริษัทที่ใหญ่สุดในเวียดนาม
ปี ค.ศ. 2021 SK เข้าไปถือหุ้น 16.3% ใน VinCommerce เชนร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ที่เพิ่งเปลี่ยนเจ้าของจาก Vingroup ไปเป็น Masan Group เมื่อปี ค.ศ. 2019
ซึ่งการลงทุน 3 ครั้งนี้ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 62,700 ล้านบาท
การเข้ามาลงทุนของบริษัทเกาหลีใต้ที่นิยมอีกรูปแบบก็คือ การ “เปิดสาขา” ในประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าบริโภค ร้านค้าปลีก และบริการต่าง ๆ อย่างเช่นบริการการเงิน ซึ่งก็น่าสนใจว่าบริษัทเหล่านี้แทบจะไม่เคยมีสาขานอกประเทศเกาหลีใต้เลย
เพราะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางในประเทศเวียดนาม ซึ่งยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว
ถูกประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดและเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่สำคัญก็คือความนิยมในสื่อบันเทิงและวัฒนธรรมของเกาหลีใต้
ซึ่งมีส่วนช่วยให้ชาวเวียดนามกลุ่มหนึ่งคุ้นเคยกับแบรนด์เหล่านี้อยู่แล้ว
อย่าง Lotte หนึ่งในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ ที่สร้าง Lotte Center ที่เมืองฮานอย โดยเป็นอาคารที่สูงเป็นอันดับ 3 ในเวียดนาม มีทั้งโรงแรม 5 ดาว, ส่วนพักอาศัย, ห้างสรรพสินค้า Lotte, ซูเปอร์มาร์เก็ต Lotte Mart รวมถึงภัตตาคาร สปา และบริการอื่น ๆ คล้ายกับ Lotte Tower ในกรุงโซล
นอกจากนี้ Lotte ยังมีธุรกิจอื่นในเครือที่ประสบความสำเร็จในเวียดนาม อย่างเช่น ร้าน Lotteria ที่เริ่มเปิดสาขาเวียดนามในปี ค.ศ. 1998 จนในปัจจุบันกลายเป็นเชนฟาสต์ฟูด ที่มีสาขามากที่สุดในเวียดนาม
รวมถึงโรงภาพยนตร์ Lotte Cinema ที่เริ่มให้บริการที่เวียดนามในปี ค.ศ. 2008 ซึ่งนอกจาก Lotte แล้ว กลุ่ม CJ บริษัทแม่ของผู้ผลิตสื่อบันเทิงขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้ อย่างเช่น Mnet, tvN และ Studio Dragon ก็มาเปิดสาขาโรงภาพยนตร์ CJ CGV ที่เวียดนามตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005
ซึ่งโรงภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ ก็กลายเป็นเจ้าตลาดในเวียดนาม โดยกว่า 70% ของจำนวนโรงภาพยนตร์ทั้งหมดในประเทศเวียดนาม เป็นของ CJ CGV และ Lotte Cinema
ในส่วนของบริการทางการเงิน กลุ่มบริษัทการเงิน ธนาคาร รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ก็เลือกมาเปิดสาขาที่เวียดนาม เช่นกัน
อย่างเช่น Shinhan Financial Group กลุ่มการเงินอันดับ 2 ของเกาหลีใต้ เข้ามาเปิดสาขาธนาคาร Shinhan Bank Vietnam ตามเมืองใหญ่ในเวียดนาม รวมถึงบริษัท Shinhan Investment ที่ได้เข้าซื้อกิจการบริษัทหลักทรัพย์ท้องถิ่น
หรือ Hana Bank ธนาคารของกลุ่มการเงินอันดับ 4 ของเกาหลีใต้ ก็เข้ามาถือหุ้น 15% ในธนาคารรัฐวิสาหกิจของเวียดนาม ที่ชื่อ Bank for Investment and Development of Vietnam (BIDV) และมีแผนจะขยายสาขาในเวียดนามผ่านเครือข่ายสาขาของ BIDV
รวมถึงบริษัทการลงทุนขนาดใหญ่อย่าง Mirae Asset Global Investments ซึ่งเป็นบริษัทแรกของเกาหลีใต้ที่ได้เปิดบริษัทจัดการกองทุนในเวียดนาม และเป็นสาขาแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การเข้ามาลงทุนหลากหลายรูปแบบในประเทศเวียดนามของเกาหลีใต้ มีส่วนสำคัญในการเพิ่มการจ้างงานเกือบล้านตำแหน่งในตลาดแรงงานเวียดนาม รวมถึงยังทำให้เวียดนามมีโอกาสได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปด้วย
ที่สำคัญก็คือเรื่องของการส่งออก ที่ราว 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม มาจากการผลิตของโรงงานสัญชาติเกาหลีใต้
นอกจากนี้โครงสร้างการส่งออกของเวียดนาม ก็ปรับมามีสัดส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก
โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์คุณภาพสูง จากเมื่อ 20 ปีก่อน ที่แทบไม่มีการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เลย
ถึงตรงนี้ เราก็พอจะสรุปได้ว่าประเทศเกาหลีใต้ คือผู้มีบทบาทสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม นั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2019-04-10/south-korea-s-investment-bonanza-in-vietnam-doesn-t-add-up
-https://asia.nikkei.com/Business/Business-trends/South-Korea-s-SK-Group-bets-big-on-Vietnam-s-100m-consumer-market
-https://asia.nikkei.com/Business/Business-deals/SK-Group-takes-16-stake-in-Vietnam-s-top-retailer
-https://asia.nikkei.com/Business/Business-trends/South-Korean-investment-in-Vietnam-grows-amid-U.S.-China-trade-war
-https://m.koreatimes.co.kr/pages/article.asp?newsIdx=280920
-http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20181122000128
-https://www.kroll.com/-/media/kroll/pdfs/publications/the-rise-of-korean-investment-in-vietnam.ashx
-http://www.mpi.gov.vn/en/Pages/chuyenmuctin.aspx?idcm=277
-https://www.krungsri.com/en/research/regional-economic/RH/ih-vietnam-2021
-https://advicecenter.kkpfg.com/th/money-lifestyle/money/economic-trend/country-competitiveness